ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ

เกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่แสดงถึงโลกทัศน์ทางสังคม อันมีวิธีคิดและจารีตปฏิบัติในสังคมล้านนา

พบทั้งหมด 359 รายการ
 
 
ความหมายเเละประเภทของเทียนล้านนา
ความหมายเเละประเภทของเทียนล้านนา
เทียน ในแง่ทั่วไปแล้วมักหมายถึงเทียนขี้ผึ้งซึ่งเป็นเครื่องตามไฟที่ฟั่นหรือหล่อด้วยขี้ผึ้งหรือไข มีไส้อยู่ตรงใจกลาง มีลักษณะเป็นแท่ง เทียนขี้ผึ้งในล้านนาหมายถึง เทียนที่สีขึ้นรูปด้วยขี้ผึ้งมีด้ายดิบเป็นไส้ แบ่งตามน้ำหนักและเรียกชื่อตามประโยชน์วิธีใช้ เช่นเทียนเหล้มบาท เทียนเหล้มเฟื้อง เทียนค่าติง เทียนเงิน เทียนฅำ เทียนส่งเคราะห์-รับโชค เทียนกลาง เทียนมงคลซ้าย เทียนมงคลขวา เทียนพรรษา เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อและศาสนา วิธีทำเทียนขี้ผึ้ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.การหล่อเทียน โดยใช้เป้าหลอมหรือกระบอกไม้ไผ่ เช่นเทียนพรรษา 2.การสีเทียนด้วยมือ เรียกว่า การฝั้นเทียน หรือ สีเทียน (อ่านว่า “สีเตียน”) อุปกรณ์ที่ใช้ 1.ขี้ผึ้งแท้ หรือขี้ผึ้งผสม ซึ่งมีขายเป็นแผ่นๆ หรือขี้ผึ้งที่ได้จากขี้ผึ้ง นำมาต้ม แล้วคลึงให้เป็นแผ่น แบ่งตามขนาดที่ต้องการใช้ เช่น สลึง เฟื้อง หรือตั้งแต่ 1,2,5,10,300,500 บาท 2.ตั่ง หรือ “ค่อมคะลิก” (ลักษณะคล้ายม้านั่งขนาดเล็ก) ใช้เป็นแท่นสำหรับคลึงเทียน 3.เส้นด้ายดิบ จำนวน 9-27 เส้น หรือเท่าจำนวนอายุ มีขนาดยาวตามความต้องการ ขั้นตอนวิธีทำ 1.นำชิ้นขี้ผึ้งแท้หรือขี้ผึ้งผสมมาตากแดด ต้มหรือผิงไฟ เพื่อให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว แล้วจึงนำมาคลึงหรือแผ่ให้เป็นแผ่นตามขนาดที่ต้องการ 2.นำเส้นด้ายดิบจำนวน ตั้งแต่ 9-27 เส้น ขนาดยาวตั้งแต่ 15-190 เซนติเมตร (ตามขนาดของเทียน) เป็นไส้กลาง 3.สีขี้ผึ้งบนตั่ง หรือแท่นที่รองรับไม้กระดานตามสะดวก ให้ได้รูปร่างเป็นเทียนตามขนาดที่ต้องการใช้ ถ้าเป็นเทียนขนาดใหญ่ เช่น เทียนพรรษา ใช้เป้าหลอม หรือกระบอกไม้ไผ่ผ่าซีกนำมาประกบกัน  ชื่อเรียกและประโยชน์ใช้ 1.เทียนใช้จุดบูชาพระ เป็นเทียนที่มีขนาดแตกต่างกันไปตามขนาดลักษณะการใช้งาน ซึ่งอาจใช้บูชาพระในพีธีการทั่วไป หรือใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องคารวะ มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น เทียนเหล้มบาท เทียนเหล้มเฟื้อง เทียนคู่ เทียนกลาง เหลียนเหล้มหน้อย 1.1 เทียนเหล้มบาท คือเทียนที่มีน้ำหนัก 1 บาท ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น ใช้ทำเทียนน้ำมนต์ในงานมงคล,พิธีขึ้นครู(ไหว้ครู) - เทียนน้ำมนต์ หนัก 6 สลึง ถึง 1 บาท - เทียนเงินเทียนทอง หนักแท่งละ 2 บาท พิธีตั้งศาลพระภูมิ จะใช้ เทียนน้ำมนต์ หนัก 4 บาท ไส้ 12 เส้น 1 แท่ง เทียนบูชาทิศ 8 ใช้เทียนขี้ผึ้ง หนัก 1 บาท ไส้ 12 เส้น เป็นต้น 1.2 เทียนคู่ (อ่าน“เตียนกู้”) คือ เทียนที่มีขนาดเล็กกว่าเทียนเหล้มเฟื้อง ในพิธีงานแต่งงานทางเหนือ มีการไหว้บอกผีปู่ย่าทางตระกูลฝ่ายหญิง จะใช้เทียนประกอบพิธีเป็นจำนวนคู่ ประกอบด้วย หมากพลู โดยใช้ครั้งละ 2 แท่ง ใส่สวยดอก คือ กรวยใบตอง บรรจุข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน จัดเป็นเครื่องนำสักการะ เช่น ต้องการจำนวน 24 สวย หรือ 24 กรวย ก็ใช้พลู 4 ใบ หมากสาย 4 ท่อน เทียน 2 คู่ แท่ง ต่อ 1 สวยดอก 1.3 เทียนเหล้มเฟื้อง คือ เทียนที่มีน้ำหนัก 1 เฟื้อง ประโยชน์ใช้เช่นเดียวกับเทียนเหล้มบาท มักใช้ประกอบสวยดอกไม้ 1.4 เทียนกลาง (อ่าน “เตียนก๋าง”) คือเทียนที่มีขนาดย่อมลงไป ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ พิธีทำบุญสะเดาะเคราะห์ในวันปากปี (ตรงกับวันที่ 16 เมษายนของทุกปี) ชาวบ้านจะใช้เทียนจุดบูชาหน้าพระพุทธรูปเท่ากับจำนวนคนในบ้าน เป็นต้น   1.5 เทียนหน้อย (อ่าน “เตียนหน้อย”) เป็นเทียนที่มีขนาดเล็กที่ใช้ประกอบพิธีที่ต้องใช้เทียนจำนวนมาก เช่นพิธีทำบุญสืบชะตา มักใช้เทียนจำนวนมาก เช่น พิธีทำบุญสืบชะตา มักใช้เทียนจำนวน 109 แท่ง พิธีไหว้ผีปู่ย่า ( เดือน9 ) มีการฟ้อนผีมด ก็ใช้เทียนเหล้มหน้อยประกอบพิธีหรือวันพระ พระภิกษุสงฆ์ลงอุโบสถ ก็ใช้เทียนขนาดกลาง หรือขนาดเล็กประกอบพีธีจุดบูชาพระ 2.เทียนค่าติง (อ่าน “เตียนก้าคิง”) คือเทียนที่มีไส้ทำด้วยเส้นด้ายจำนวนเท่าอายุเจ้าภาพงาน โดยเพิ่มจำนวนมากกว่าอายุ 1 เส้น เช่น ถ้าอายุ 72 ปี ก็ใช้เส้นด้ายจำนวน 73 เส้น มีความยาวเท่าความสูงของเจ้าภาพวัด ตั้งแต่ไรผมถึงฝ่าเท้า ใช้จุดพิธีงานทำบุญสืบชะตาอายุ หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เนื่องจากเทียนชนิดนี้มีขนาดยาวเวลาจุดจึงต้องพาดเทียนไว้กับร่องของก้านกล้วย (ในกรณีที่ไม่อาจทำเทียนค่าติงได้ อาจอนุโลมให้ใช้สีสายค่าติง คือด้ายที่มีจำนวนและขนาดที่จะใช้เป็นไส้เทียนชุบน้ำมันซึ่งเวลาจุดนิยมพาดไว้บนราวแล้วจุดจากด้านล่างขึ้นไป) 3.เทียนจังกอร (อ่าน “เตียนจั๋งก๋อน”) คือเทียนที่มีขนาดเท่ากับเทียนเล่มบาท ใช้จุดที่เมรุหรือกองฟอนเวลาเผา ศพคนตายจำนวน จำนวน 6 เล่ม โดยใช้เป็นปริศนาธรรมเพื่อเผาไฟกิเลส ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา กิเลส 4.เทียนจาละเม็ด คือ เทียนที่มีน้ำหนักเท่ากับเทียนเล่มบาท ใช้ตามไว้เหนือศีรษะผู้ตาย ถือว่าเป็นไฟประจำชีวิต ใส่เชิงรองไว้จุดเมื่อสิ้นใจ ปัจจุบันมักใช้ตะเกียงน้ำมันแทน 5.เทียนลดเคราะห์ เทียนปูชารับโชค เป็นเทียนที่ทำขึ้น โดยจุดบูชาเพื่อให้อยู่ดีมีสุข หรือทำมาค้าขายได้คล่องมักใช้ด้ายสายสิญจน์จำนวน 27 เส้น เป็นไส้กลาง เพื่อลดเคราะห์จำนวน 27 ตัว ตามจำนวนดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม 6.เทียนทำให้คนรักใคร่ เกลียดชัง หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นเทียนที่ทำขึ้น โดยใช้เวทมนตร์คาถาอาคมประกอบ โดยผู้ทำจะต้องเป็นผู้ที่รู้เวทมนตร์คาถาอาคม เรียกว่า มนต์ขาว หรือมนต์ดำ ดังปรากฎในพับหนังสา (สมุดข่อยหรือใบลาน) เทียนประเภทที่ 5-6 มีวิธีการทำที่ยุ่งยากกว่าเทียนขี้ผึ้งธรรมดา คือ ผู้ทำจะต้องเป็นผู้ที่รู้เวทมนตร์คาถา  ก่อนจะทำจะต้องขึ้นขันตั้งหรือทำพิธีบูชาครูก่อน แล้วนำกระดาษสามาเขียนอักขรคาถาหรือยันต์เวทมนตร์ตามที่ได้ศึกษามาแต่โบราณกาลดังปรากฎในตำราที่เรียกว่า พับหนังสา (อ่าน “ปั๊บหนังสา”) ดังกล่าว แล้วตัดตามขนาดของยันต์ นำด้ายสายสิญจน์ตามขนาดต้องการมาพันยันต์ดังกล่าวให้แน่น แล้วใช้ด้ายพันชั้นนอกอีกชั้น แล้วจึงหุ้มด้วยขี้ผึ้งนำมาสีหรือฟั่นให้กลมกลึง ผู้ที่จุดเทียนมักใช้จุดบูชาหน้าพระ หรือบนหัวนอนเป็นเทียนที่ใช้ลดเคราะห์สืบชะตารับโชค ส่วนเทียนที่ทำให้คนรัก หลง หรือ โกรธเกลียดมุ่งทำร้ายกัน มีวิธีการทำเช่นเดียวกับเทียนลดเคราะห์รับโชค แต่จะเปลี่ยนไส้เทียนจากด้ายสายสิญจน์ เป็นชายเสื้อของผู้ที่จะกระทำต่อกัน หรืออาจใช้เส้นผม หรือด้ายตราสังศพแทนก็ได้ สถานที่ที่ใช้จุดอาจเป็นป่าช้า น้ำบ่อร้างทางสามแพร่ง ใต้บันได ในหลุมดิน เป็นต้น ขณะที่จุดจะต้องมีเครื่องสังเวย ซึ่งประกอบด้วยกระทงข้าวปลาอาหารขนมวางไว้ด้วย           การทำเทียนประเภทที่ใช้เวทมนตร์คาถาจะได้ผลตามต้องการหรือไม่นั้น อยู่ที่กำลังใจและกระแสจิตของแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตามผลที่ได้ ก็คือ การมีกำลังใจที่จะทำอะไรต่อไป 7.เทียนพรรษา หรือ เทียนวัสสา เป็นเทียนขี้ผึ้งที่มีขนาดใหญ่วิธีการทำ โดยใช้เป้าหลอมหรือเทียนใส่กระบอกไม้ไผ่ ประโยชน์ใช้เพื่อจุดบูชาพระพุทธรูปในฤดูกาลเข้าพรรษา 8.เทียนที่ใช้ประกอบพิธีการพุทธาภิเษก หรืองานสมโภชพระพุทธรูป เทียนที่ใช้จุดในพิธีการพุทธาภิเษกพระมีชื่อเรียกต่างๆกัน ได้แก่ 8.1 เทียนชัย เป็นเทียนที่มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 156-190 เซนติเมตร ใช้จุดบูชาที่หน้าพระประธาน 8.2 เทียนมงคลซ้าย 8.3 เทียนมงคลขวา 8.4 เทียนโลกุตตร ใช้จำนวน 9 เล่ม จุดบูชาพระรัตนตรัย 8.5 เทียนวิปัสสี 8.6 เทียนส่องญาณ เทียนทั้ง 6 ชนิด ใช้สำหรับพิธีการพุทธาภิเษกหรือสมโภช สูง 1 ศอก ของเจ้าภาพงาน หรือรอบศีรษะพระพุทธรูป คือประมาณ 50 เซนติเมตร และเทียนในพิธีดังกล่าว มักทำด้วยการฟั่นเทียนหรือสีเทียนด้วยมือ   เทียนธูป (อ่าน“เตียนทุบ”) เทียนธูป ในความหมายแบบล้านนายุคก่อนหมายถึงธูป ซึ่งทำโดยใช้ไม้หอมหรือเปลือกไม้หอมหรือดอกไม้แห้ง มาป่นเป็นผง แล้วห่อด้วยกระดาษสีเดียวหรือคาดด้วยกระดาษสีอื่นวนโดยรอบจากส่วนโคนจนถึงปลาย ยาวประมาณ 1 คืบ โตประมาณครึ่งเซนติเมตร ส่วนปลายมักใช้กรรไกรตัดกระดาษหุ้มให้เป็นพู่ ใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ รวมไปถึงการจุดบูชาพระด้วย ต่อมาภายหลังนิยมใช้ธูปจีนในการจุดบูชาพระ ทำให้เทียนธูปหรือธูปที่ทำด้วยเปลือกไม้หอมป่นหรือห่อด้วยกระดาษเหลือบทบาทเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาในเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น ในการปรากฎในชุดเครื่องบูชาที่กล่าวเป็นภาษาโวหารปนภาษาบาลีแล้ว มักจะว่า “ธูปปุปฺผาลาชา ดวงดอก เข้าตอกดอกไม้แลลำเทียน” คือ ธูป ดอกไม้ ข้าวตอก และเทียน พบว่ามีการเรียกชื่อว่า เทียนหางหนู ธุปลม และธูปรม อีกด้วย ส่วนธูปอย่างธูปจีนที่ใช้ผงดอกไม้ หอมคลึงติดกับก้านไม้นั้น ทางล้านนายุคก่อนเรียก เทียนแส้ (อ่าน “เตียนแส้”) เทียนอังกอร (อ่าน “เตียนจั๋งก๋อน”) เทียนจังกอร คือเทียนขี้ผึ้งมีไส้ทำด้วยด้ายแบบท้องถิ่น ตัวเทียนมีขนาดยาวประมาณ 1 คืบ เล็กประมาณครึ่งเซนติเมตร จำนวน 12 แท่ง ใช้จุดเมื่อหามศพไปถึงป่าช้าแล้ว โดยจุดบริเวณหัวไม้คานหามศพรอบด้าน เมื่อจุดเทียนครบทุกแท่งแล้วจึงวางผ้าบังสุกุลและนิมนต์พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลนั้นแล้วจึงอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายก่อนที่จะประชุมเพลิง  
เผยแพร่เมื่อ 23 กรกฎาคม 2563 • การดู 30,784 ครั้ง
หล่อเทียนพรรษา
หล่อเทียนพรรษา
พิธีหล่อเทียนพรรษาเเละสมโภชเทียนพรรษา  ในช่วงใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมทำเทียนขี้ผึ้งไปถวายเป็นเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระรัตนตรัย โดยมุ่งหวังว่าอานิสงส์แห่งการให้ทานจะบันดาลให้รับความสุข มีสติปัญญาสว่างไสว ชีวิตรุ่งโรจน์สดใส ดุจแสงไฟจากแท่งเทียนที่ส่องสว่าง  การทำเทียนเพื่อถวายช่วงเทศกาลเข้าพรรษามีมาช้านานแล้ว ในส่วนบุคคลอาจทำถวายเป็นการส่วนตัวหรือถวายในส่วนของครอบครัวโดยไม่มีพิธีรีตองซับซ้อนแต่อย่างใด แต่กรณีที่มีเจ้าภาพร่วมกันจัดทำหรือทำเป็นหมู่คณะ เช่น สถานบัน องค์กร ชุมชน เป็นต้น กรณีนี้มักจะมีพิธีกรรมในการหล่อเทียน ซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อนพิถีพิถัน มีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน                 อันดับแรก ก่อนที่จะทำการหล่อเทียนจะมีการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เช่น ขี้ผึ้ง ไส้เทียน เบ้าหลอม กระทะ เป็นต้น เมื่อจัดเตรียมแล้วจึงตั้งเตาอั้งโล่และกระทะขี้ผึ้ง    ใกล้ ๆ กันนั้นจะเป็นเบ้าหลอมที่มีไส้เทียนขึงอยู่ส่วนกลางของเบ้าหลอม ในส่วนด้านปากของเบ้าหลอมอาจมีแท่นหรือบันไดให้คนขึ้นไปเทเทียนเหลวเพื่อหล่อได้โดยสะดวก จากนั้นจึงขัดรั้วทำเป็นราชวัตรล้อมรอบบริเวณเบ้าหลอมนั้นให้เป็นปริมณฑล เฉพาะรั้วราชวัตรจะมีทางเข้าทั้งสี่ด้าน    มุมของรั้วจะประดับประดาด้วยฉัตรและธงทิว  รอบๆรั้วมีการนำเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นข่า มาประดับด้วย                 เมื่อถึงเวลาหล่อเทียนมักนิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๙ รูป มาทำพิธีสวดชัยมงคลคาถา โดยขณะที่ประธานในพิธีขึ้นไปเริ่มหล่อเทียนเหลวลงในเบ้า   พระสงฆ์จะเริ่มสวดและสวดไปเรื่อย ๆ เมื่อคนอื่น ๆ ที่มาร่วมพิธีตักขี้ผึ้งหล่อตามกันไป  หลังจากที่เทียนเย็นสนิทและแข็งตัวแล้ว จะถูกแกะออกจากเบ้าเพื่อนำไปแกะสลักหรือตกแต่งให้สวยงาม จนได้เวลาเหมาะสมจึงจัดริ้วขบวนแห่เทียนไปถวายที่วัดต่อไป                 การหล่อเทียนเพื่อถวายเป็นเทียนพรรษา  นับเป็นกิจกรรมที่ดีงาม เพราะนอกจากพุทธศาสนิกชนจะได้รับความเอิบอิ่มในกุศลบุญที่จะได้เทียนเพื่อถวายเป็นเครื่องสักการบูชาแล้ว  ผลพลอยที่ได้ตามมาคือ ได้แสงสว่างเพื่ออำนวยประโยชน์สำหรับพระภิกษุสามเณรในการประกอบศาสนกิจในยามรัตติกาล   และที่สำคัญ คือ ได้ความสมัครสมานสามัคคีของหมู่คณะ นับเป็นผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ที่เห็นได้อย่างชัดเจน   เขียนโดย : อาจารย์สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
เผยแพร่เมื่อ 30 มิถุนายน 2563 • การดู 16,355 ครั้ง
ดอกข่า
ดอกข่า
ดอกข่า               ดอกไม้ของต้นข่า ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ได้รับน้ำฝนแรกของปี มีกลิ่นหอมสดชื่น เป็นดอกที่สามารถรับประทานเป็นผักสดได้ ซึ่งจะมีรสเผ็ดร้อน สามารถนำไปนึ่ง/ต้ม จิ้มน้ำพริก ใส่แกงแคได้ ซึ่งอาจจะทราบกันดีว่าข่านั้นนอกจากจะเป็นสมุนไพรประจำบ้านแล้ว ยังเป็นส่วนประกอบเครื่องเทศของอาหารไทย ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะใช้ประโยชน์จากต้นข่าได้ทุกส่วน เเละข่านั้นยังมีฤทธิ์ทางยา หากพูดถึงในส่วนของ"เหง้า" เหง้าแก่นั้น แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง "ดอก"ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ผลช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นเหียน อาเจียน "ต้น"แก่นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นตะคริว ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้พยาธิ สารสกัดจากข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย                ข่านั้นยังเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารอีกด้วย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลืองและแกงกอและทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า ช่วยในการดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา ในภาคเหนือใช้ข่าเป็นเครื่องปรุงของน้ำพริก และอาหารประเภทแกงเกือบทุกชนิด                
เผยแพร่เมื่อ 19 พฤษภาคม 2563 • การดู 19,560 ครั้ง
ประเพณีเข้าอินทขีล
ประเพณีเข้าอินทขีล
         ในช่วงวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ถึงวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ของทุกๆปี ชาวล้านนาจะมีพิธีบูชาเสาอินทขีลที่ประดิษฐาน ณ วิหารจตุรมุข ที่ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการบูชาเสาหลักเมืองอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอาณาประชาราษฎร์ตลอดจนเป็นการบูชาเทพยดาอารักษ์ เสื้อบ้านเสื้อเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล และความอุดมสมบูรณ์ในเรือกสวนไร่นา เพราะอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลของการเพาะปลูก         ประเพณีนี้จะมีการนำน้ำส้มป่อย ดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาเสาอิทขีล นอกจากนี้ยังมีการสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า สรงน้ำพระเจดีย์ ใส่บาตรพระประจำวันเกิดและถือโอกาสทำบุญบริจาคทานตามกุศลเจตนาอีกด้วย ดังนั้น ประเพณีบูชาเสาอินทขีลจึงเป็นการหลอมรวมเอาความเชื่อดั้งเดิมกับวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกันอย่างลงตัว         เสาอินทขีล เป็นเสาปูนปั้นตั้งอยู่กลางวิหารอินทขีลในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร แต่เดิมมีเฉพาะเสาล้วน ๆ ต่อมามีการประดับกระจกตกแต่งให้สวยงามโดยมีครูบาอภิชัยขาวปีเป็นประธาน พร้อมนั้นพลตรีเจ้าราชบุตร ได้นำพระพุทธรูปปางขอฝน (พระคันธาราษฎร์) ขึ้นประดิษฐานบนเสานั้น แต่ปัจจุบันที่เห็นเป็นพระพุทธรูปปางรำพึง           กล่าวถึงเสาอินทขีล ในความเป็นจริงแล้วมิได้มีเฉพาะเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่เท่านั้น หากแต่ยังมีที่ประตูเมืองทั้งห้าของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งแจ่งเมืองทั้งสี่ด้วย ทั้งนี้จากการศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.อุดม  รุ่งเรืองศรี  พบว่าทุกประตูเมืองมีเสาอินทขีล ยกเว้นประตูท่าแพซึ่งมีการเคลื่อนย้ายไป (น่าจะเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่) ในครั้งที่มีการสร้างประตูท่าแพขึ้นใหม่ ส่วนที่แจ่งต่าง ๆ ที่พบแล้วมีปรากฏที่แจ่งหัวรินและแจ่งกระต๊ำ           อย่างไรก็ตาม เสาอินทขีลที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่ เสาอินทขีลที่ตั้งอยู่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ซึ่งมีการเขียนตำนานเล่าความเป็นมาว่าเดิมเป็นเสาหินที่อยู่บนสวรรค์ พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์สองตนนำมาตั้งไว้ในเมืองนพบุรี(เชียงใหม่) เพื่อบันดาลโชคลาภและป้องกันภัย ต่อมาผู้คนกระทำการอันเป็นการไม่ให้ความเคารพต่าง ๆ นานา กุมภัณฑ์ไม่พอใจจึงหามกลับเมืองสวรรค์ เมื่อชาวเมืองเดือดร้อนก็ไปขอพระอินทร์อีก คราวนี้พระอินทร์ให้ชาวเมืองก่อเองโดยให้หล่ออ่างขาง (กะทะ) ขนาดใหญ่ แล้วให้หล่อรูปคนให้มากพอ “ร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา” หล่อรูปสัตว์นานาอาทิ ช้าง ม้า  วัว  ควาย  เป็ด  ไก่   หมู  หมา  แพะ  แกะ  กวาง  ลิง  รวมทั้งปลา  ปู  หอย  กุ้ง  จระเข้  มังกร  ตลอดจนตะขาบ  แมลงป่อง  ลงใส่ในอ่างข้างจากนั้นให้ขุดดินฝังอ่างขางนั้นลึกลงดินถึง  ๙  ศอก แล้วก่อรูปเสาอินทขีลบนดินนั้น เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่ชาวเมือง           ในส่วนของประวัติศาสตร์ เมื่อสืบค้นดูพบเรื่องของอินทขีลในเอกสารโบราณ โดยเฉพาะตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับวัดพระงามผูกที่  ๗  และผูกที่  ๘  โดยข้อความตอนหนึ่งในผูกที่  ๗  กล่าวถึงการสร้างพระวิหารอินทขีล  ดังความว่า  “…เถิงศักราช  ๑๑๕๖  ตัว ปีกาบยี (พ.ศ. ๒๓๓๗  ปีขาล ฉศก) เดือน  ๘  เพ็ง (วันเพ็ญเดือน  ๖  ของภาคกลาง) เม็งวัน  ๑  (อาทิตย์)  ปฐมมูลศรัทธาเจ้ามหาอุปราชาได้สร้างพระวิหารวัดอินทขีล”  และข้อความอีกตอนหนึ่งในผูกเดียวกันว่า (ศักราช  ๑๑๖๖  คือ  พ.ศ.  ๒๓๔๗) … อยู่เถิงเดือน  ๕  เพง (วันเพ็ญเดือน  ๓  ของภาคกลาง) เม็งวัน  ๕  (พฤหัสบดี) ปฐมมหามูลสัทธาสมเด็จพระเป็นเจ้าเชียงใหม่องค์เป็นพระวรราชเชฎฐาธิราชะได้สร้างอารามวัดอินทขีล” ในช่วง พ.ศ. ๒๓๓๗ และพ.ศ. ๒๓๔๗  เป็นช่วงสมัยของพระเจ้ากาวิละ และหลังจากนั้น ในผูกที่  ๘  มีข้อความกล่าวถึงการยกมณฑปหออินทขีลในพ.ศ. ๒๓๖๐  ว่า  (ศักราช  ๑๑๗๙)  “…ยามนั้นยกมัณฑัปปะหออินทขีล แลแรกก่อสร้างยังเจติยะธาตุเจ้ายังวัดพระสิงห์”  ซึ่งพ.ศ.นี้ เป็นช่วงหลังสมัยพระเจ้ากาวิละเพราะพระองค์สวรรคตปี พ.ศ. ๒๓๕๘           ประเด็นในความเป็นมายังมีรายละเอียดซับซ้อนอีกมาก ซึ่งคงต้องศึกษาอย่างรอบคอบต่อไป แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง  สิ่งที่โบราณท่านสะท้อนความคิดออกไว้เป็นที่ชัดเจนว่า บุคคลไม่ว่าชาติใด ภพใด สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกสัตว์น้ำหรือแมลงที่อาศัยอยู่ใน อ่างขาง คือแผ่นดินที่มีทิวเขาล้อมรอบแห่งนี้ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เสาอินทขีลที่สร้างขึ้นนั้นมิได้หมายถึงเสาอย่างที่อยู่กำแพงเมือง แต่เป็นเสาแห่งปฏิญญาคือ “ความมั่นคง”  ทุกชีวิตไม่ว่าจะมาจากไหนจะต้องสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในเมืองนี้ ซึ่งทุก ๆ ปี ทุกคนทุกหมู่เหล่าจะมาทำพิธีเพื่อแสดงถึงสามัคคีธรรม ณ ข่วงอินทขีล ที่มีเสาอินทขีล เสาแห่งปฏิญญาฟ้าเวียงพิงค์   สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่          
เผยแพร่เมื่อ 15 พฤษภาคม 2563 • การดู 2,987 ครั้ง
เอื้องงวงช้าง
เอื้องงวงช้าง
เอื้องงวงช้าง                     มีชื่อท้องถิ่นว่า เอื้องสาย , เอื้องงวงช้าง, พอทุกิ, มอกคำเครือ, สายไหม เป็นประเภทกล้วยไม้ที่อิงอาศัยต้นไม้อื่นอยู่ รูปร่างเป็นลำต้นลำลูกกล้วย เรียวยาวห้อยลง ใบ มีลักษณะใบหอกแกมรูปไข่ ปลายแหลม ช่วงออกดอกจะทิ้งใบ ดอกสีขาว ออกดอกเป็นช่อ กลีบปากสีม่วงจาง ช่อดอกสั้นมาก มี 2-3 ดอก กลีบดอกรูปใบหอก สีขาว ปลายแหลม กลีบปากรูปทรงเกือบกลม สีม่วงซีด แผ่นกลีบเป็นขนละเอียด โคนกลีบมีลายสีเข้ม กลีบม้วนเข้าจนหุ้มเส้าเกสรที่อ้วนและสั้น ฤดูออกดอกจะอยู่ในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ประเภทป่าที่พบ เป็นป่าเต็งรัง,ป่าเบญจพรรณ,ป่าเต็งรังผสมสน ข้อมูลอ้างอิง : Orchid Maejo University
เผยแพร่เมื่อ 13 พฤษภาคม 2563 • การดู 1,657 ครั้ง
หมากพู้ (ชู้หมาก)
หมากพู้ (ชู้หมาก)
หมากพู้                        ทางภาคกลาง เรียกว่า หมากผู้หมากเมีย เป็นไม้พุ่ม ลำตั้งต้นตรงไม่แตกกิ่งก้านสาขา สูงประมาณ 1 - 3 เมตร ใบออกส่วนบนของต้น แตกเป็นวงสลับกันไปรอบๆ ลำต้น ใบยาวแหลม ยาวประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร กว้าง 5 - 10 เซนติเมตร สีม่วงแดง หรือเขียว ดอกออกเป็นช่อที่ยอด สีม่วงแดงหรือชมพูหรือสลับด้วยสีเหลืองอ่อน ผลทรงกลม ฉ่ำน้ำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ         ชาวล้านนานิยมใช้มาปักแจกัน หรือ “หม้อไหดอก” ไว้บน “หิ้งพระเจ้า” หรือใช้ปักบนก๋วยฉลาก ส่วนดอกหมากพู้นิยมนำมาใส่แกงแค (แกงชนิดหนึ่งมีผักหลายอย่างรวมกัน)         หมากพู้นี้บ้างก็เรียกว่า ชู้หมาก อ่านว่า “จู๊หมาก”         สรรพคุณทางยา เช่น ห้ามเลือด แก้บวมอักเสบ แก้บิดถ่ายเป็นเลือด แก้ไอเป็นเลือด ปัสสาวะทางเลือด แผลบวมจากการหกล้ม แต่สตรีมีครรภ์ไม่ควรกิน   ข้อมูลอ้างอิง : สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 13 
เผยแพร่เมื่อ 12 พฤษภาคม 2563 • การดู 2,354 ครั้ง
วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา
คำว่าวิสาขปูชา หรือ วิสาขบูชา คืองานบูชาในเดือนหกซึ่งชาวล้านนานิยมเรียก“ปาเวณีเดือนแปดเพง” คืองานประเพณีเพ็ญเดือนแปด (เหนือ) เป็นรูปบาลี ย่อมาจากคำว่าวิสาขาปุณณมีบูชา หรือวิสาขาปูรณมีบูชา ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแต่เรียกย่อ ๆ ว่าวิสาขบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนหก (วันเพ็ญเดือนแปดเหนือ) คำว่า“ วิสาขะหรือไวสาขะ” เป็นชื่อของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง เมื่อพระจันทร์ผ่านกลุ่มดาววิสาขะนี้เรียกว่าพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ คำว่า วิสาขะเป็นชื่อเดือนที่ 5 หรือเดือนหกตามจันทรคติ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน สามสมัยกาลร่วมกัน มีเรื่องย่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งสามดังต่อไปนี้ ประสูติ เมื่อ ๔๐ ปีก่อนพุทธศักราช ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่พรมแดนระหว่าง กรุงกบิลพัสดุและกรุงเทวทหะ ปัจจุบัน คือตำบลลุมมินเอ แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ใต้ต้นสาละในสวนนี้ เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก ปีจอ เวลาใกล้เที่ยง ตรัสรู้ จากวันประสูตินั้นมา ๓๕ ปีบริบูรณ์ คือ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันเรียกว่า พุทธคยาจังหวัดคยา แคว้นพิหาร พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ เมื่อวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนหกปีระกาเวลารุ่งอรุณ ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนศีลธรรมอยู่ ๔๕ ปี เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ ระหว่างต้นสาละคู่ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนหกปี มะเส็ง เวลาใกล้รุ่ง พิธีวิสาขบูชานี้ เป็นพิธีที่นิยมทำกันมาแต่โบราณปรากฏหลักฐานจากคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า ราวพุทธศักราช ๔๒๐ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในเกาะลังกาพระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกา ล้วนแต่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก และได้ให้ทำพิธีวิสาขบูชาเป็นการใหญ่ประจำปี พิธีการวันวิสาขบูชาของล้านนาไทย พิธีการวันวิสาขบูชา สำหรับล้านนาไทยนั้น ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ วันมาฆบูชาทุกอย่างยกเว้นไม่มีการทานขันเข้าเท่านั้น ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรรับศีลและตอนบ่ายผู้เฒ่าผู้แก่จะไปวัดฟังเทศน์ บางคนจะไปนอนวัดถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียนจะมีทั้งพระสงฆ์และประชาชนพระสงฆ์เดินนำหน้าเวียนขวารอบเจดีย์พระอุโบสถหรือวิหาร ๓ รอบ เสร็จแล้วก็เข้าโบสถ์สวดมนต์ฟังเทศน์เป็นเสร็จพิธี   ข้อมูลอ้างอิง : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 12 
เผยแพร่เมื่อ 8 พฤษภาคม 2563 • การดู 2,840 ครั้ง
ความเชื่อของคนล้านนากับใบเงิน ใบทอง ใบนาก
ความเชื่อของคนล้านนากับใบเงิน ใบทอง ใบนาก
ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ฟังแค่ชื่อ ก็สามารถเดาไม่ยากว่าไม้ชนิดนี้ต้องให้โชคลาภ ทางด้านทรัพย์สินเงินทองอย่างแน่นอน     ด้านความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นใบเงินใบทองไว้ประจำบ้านจะช่วยทำให้มีเงินมีทอง เสริมความมั่งคั่ง ไม่ทำให้ขัดสน เนื่องจากเป็นไม้มงคลนาม และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นใบเงินใบทองไว้ทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ และควรปลูกในวันอังคาร เพราะเชื่อว่าต้นไม้ที่มีใบสวยงามมีเสน่ห์ดึงดูดใจนั้น ควรปลูกในวันอังคาร เพราะจะยิ่งทำให้เจริญงอกงามและเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับครอบครัว ถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้นไปอีกก็ให้ปลูกต้นใบเงิน ต้นใบทอง และต้นใบนาก ไว้บริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็จะยิ่งดีนัก นอกจากนี้ใบเงิน ใบทอง ใบนาก  สรรพคุณของใบเงิน ใบทอง ใบนาค เกสรช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (เกสร) ทุกส่วนของลำต้นใช้รักษาอาการอิดโรย อ่อนกำลัง (ทุกส่วนของลำต้น) ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาลดไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้พิษร้อน ถอนไข้พิษ แก้ไข้กำเดา ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ช่วยดับพิษปอดพิการ ล้อมตับดับพิษ (ช่วยป้องกันการทำลายของตับจากสารพิษและความร้อน) แก้กาฬตับ (ใบ) เกสรมีรสเย็นหวานเล็กน้อย เป็นยาแก้ไข้ร้อน (เกสร) ทุกส่วนของลำต้นใช้ปรุงเป็นยารักษาอาการไข้ และยังใช้เข้ายารักษาไข้สำหรับเด็กในกรณีที่เป็นไข้หอม (ทุกส่วนของลำต้น) น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหูรักษาอาการปวดหู ขับแมลงเข้าหู หยอดหูแก้คัน  ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง  น้ำคั้นจากใบใช้ปรุงเป็นยาดื่มรักษาอาการท้องผูก (น้ำคั้นจากใบ) ใบมีสรรพคุณแก้บิดมูกเลือด ขับพยาธิ (ใบ) ช่วยแก้ขัดเบา มูกเลือด พิษเบื่อเมา และพยาธิ (ทุกส่วนของลำต้น) ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (น้ำคั้นจากใบ) ดอกมีรสเฝื่อนเล็กน้อย ใช้ชงดื่มเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ดอก) ใบนำมาตำแล้วเอามาใช้เป็นยาทารักษาอาการปวดบวม รักษาฝี และใช้ห้ามเลือดได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกเงี่ยงปลาตำ (ใบ) น้ำคั้นจากใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันได้ (น้ำคั้นจากใบ) ทุกส่วนของลำต้นใช้ทำเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ (ทุกส่วนของลำต้น) ข้อมูลอ้างอิงจาก : https://www.tnews.co.th/variety/518182  
เผยแพร่เมื่อ 7 พฤษภาคม 2563 • การดู 47,258 ครั้ง