สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
และล้านนาสร้างสรรค์
Center for The Promotion of
Art Culture and Creative Lanna
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์
ไทย-EN
หน้าแรก
เกี่ยวกับเรา
ประวัติความเป็นมา
ปณิธาน/วิสัยทัศน์/พันธกิจ/ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร
โครงสร้างองค์กรและการบริหารงาน
สำนักงานสีเขียว (Green Office)
ทำเนียบผู้บริหาร
คณะกรรมการอำนวยการ
คณะกรรมการบริหาร
บุคลากร
ข้อมูลสาธารณะ
หน่วยงาน
ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
สำนักงานสำนัก
- รายงานประจำปี
- ผลการปฏิบัติงานผู้อำนวยการ
- งานบริหารทั่วไป
- งานบริการและประกันคุณภาพ
ข่าวสารและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
งานบริการวิชาการชุมชน
ทัศนศึกษา/ศึกษาดูงาน
ข่าวเด่นและความภาคภูมิใจ
ข่าวผู้บริหาร
ข่าวบุคคลเด่น
ข่าวลักษณะงาน/จัดซื้อจัดจ้าง
กิจกรรมสำนัก
รวมข่าวทั้งหมด
คลังความรู้ล้านนา
ภาษาและวรรณกรรม
- ลานคำ
- ถ้อยคำสำนวน
ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ
ศิลปหัตถกรรมล้านนา
ดนตรีและนาฏยกรรมล้านนา
ภูมิปัญญาเชิงช่าง
อาหารล้านนา
วิถีชีวิตล้านนา
ชาติพันธุ์ล้านนา
วีดิทัศน์ล้านนา
วารสารร่มพยอม
ดูทั้งหมด
ติดต่อเรา
ติดต่อเรา
ขอใช้พิพิธภัณฑ์
ขอใช้ห้องประชุมสำนัก
แจ้งข้อร้องเรียน/เสนอแนะ
พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา
English Version
ชาติพันธุ์ล้านนา
ข้มมูลความรู้ด้านชาติพันธุ์ในล้านนา รวมถึงกลุ่มชนบนพื้นที่สูง
พบทั้งหมด
13
รายการ
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว)
รูปแบบและลักษณะของบ้านไทด่อน(ไทขาว) ลักษณะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงเช่นเดียวกันกับเรือนไทดำ แต่ไม่สามารถระบุส่วนต่างๆ ได้ชัดเจน เพราะรูปแบบเรือนมีหลากหลายมากกว่าไทดำมาก มีการประยุกต์และดัดแปลง ต่อเติมส่วนต่างๆของเรือนมากกว่า กล่าวคือการต่อเติมเรือนของไทดำจะขยายออกไปในแนวยาวอย่างเป็นแบบแผนตายตัว แต่บ้านไทด่อนมีการขยายเรือนออกไปทั้งด้านข้างและด้านหลังของตัวเรือน หากมองโดยรวมแล้วก็สามารถจำแนกออกมาได้เป็นระเบียงและตัวเรือน ในส่วนที่เป็นระเบียง จะมีขนาดเล็กและอยู่ตรงบันไดทางขึ้นหน้าเรือน ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างตัวเรือนกับบันได ตัวเรือนเป็นโถงยาวและกว้าง คนไทด่อนไม่นิยมแบ่งห้องโดยใช้ผ้าม่านเหมือนไทดำที่แบ่งห้องอย่างชัดเจน แต่ใช้ไม้จริงหรือฝาไม้ไผ่กั้นห้องแทนหรือบางหลังก็ต่อเติมเรือนออกไปอีกส่วนให้เป็นเรือนนอน ส่วนที่เป็นชานไม่ค่อยพบมากนัก เนื่องจากถูกดัดแปลงกลายเป็นเรือนครัวที่แยกออกมาอย่างเป็นสัดส่วน แต่เตาไฟของไทดำและไทด่อนยังคงใช้ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิงเหมือนกัน จึงสร้างกระบะทรงสี่เหลี่ยมไว้รองรับภาชนะในการหุงต้ม วิธีการปลูกเรือนของไทด่อนใช้ทั้งเทคนิคการเข้าเดือยและตอกตะปู ส่วนวัสดุที่ใช้ในการสร้างนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากเรือนไทดำเลย เนื่องจากไม้ในเขตเวียดนามเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและมีมากพอในการสร้างเรือน ส่วนรูปทรงเรือนของไทด่อนนั้นมีมากมายหลายแบบและมีขนาดใหญ่ เพราะต่อเติมส่วนต่างๆ ของเรือนมาก จึงพอที่จะจำแนกได้ดังนี้ เรือนที่สร้างจากไม้ไผ่ เป็นเรือนที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชนบท มีโครงสร้างเป็นไม้จริง แต่ส่วนประกอบอื่นๆ อาทิ ฝาเรือน พื้นเรือน บันได จะทำมาจากไม้ไผ่ เรือนแบบจั่วเดียว มีลักษณะเป็นเรือนขนาดกลางถึงใหญ่ แต่มีเพียงจั่วเดียว บางทีมีการขยายต่อเติมบ้านออกไปทางด้านข้างและด้านหลัง ใช้ไม้จริงเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนมาก เรือนแบบสองจั่ว เป็นเรือนขนาดใหญ่ที่มีการต่อเติมเรือนจั่วเดียวอีกหลังหนึ่งให้อยู่ด้านข้าง ตรงกลางระหว่างชายหลังคาทั้งสองหลังมีรางรินไว้รองรับน้ำฝนไม่ให้เข้าตัวเรือน วัสดุส่วนใหญ่จะใช้ไม้จริงมากกว่าไม้ไผ่ ส่วนประกอบของเรือนไทด่อน บันได เรือนไทด่อนจะมีทั้งบันไดที่ไม่มีราวจับและมีราวจับเป็นลายไม้ฉลุประดับอยู่ บันไดขึ้นเรือนมีทั้งหน้าเรือนและหลังเรือน บันไดหน้าเรือนเชื่อมกับระเบียง ส่วนบันไดหลังเรือนเชื่อมกับเรือนครัว หลังคา วัสดุที่ใช้ทำหลังคานั้นมีทั้งหญ้าคา กระเบื้องว่าว กระเบื้องลอน กระเบื้องดินเผา แต่สิ่งที่น่าสนในมากคือการใช้หญ้าคามุงหลังคาในปริมาณที่มาก โดยจะวางซ้อนทับกันจนเป็นแผ่นหนาหลายนิ้ว ซึ่งน่าจะให้ความอบอุ่นภายในตัวเรือนมากกว่าการมุงชั้นเดียว เสา ใช้ไม้ซุงทั้งท่อน สูงจากพื้นจนถึงชายหลังคาเช่นเดียวกันกับเรือนไทดำ แต่จะเริ่มมีการตกแต่งให้เป็นทรงเหลี่ยม การวางของเสาไม่ใช้วิธีการฝังแต่จะวางบนวัสดุที่รองรับจำพวก ก้อนหินขนาดใหญ่ ปูนซีเมนต์ที่หล่อเป็นฐาน เรือนบางหลังก็จะยึดไม้ให้ติดกับปูนที่เป็นฐานรองเลย คาน การวางคานของเรือนไทดำและไทขาวมีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือมีการใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเป็นคานวางโครงสร้างภายในเรือน และใช้วิธีการทำลิ่มเข้าเดือยในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ส่วนไม้ที่ใช้ยึดหลังคาก็จะเป็นไม้ไผ่ที่ใช้ทั้งปล้อง ในเรือนบางหลังของไทด่อนจะมีภาพเขียนเป็นลวดลายต่างๆ บนคาน ฝาเรือนและพื้นเรือน วัสดุที่ใช้ทำฝาเรือนนั้นจะมีหลากหลายมาก จำพวก ไม้จริงหรือไม้กระดาน ไม้ไผ่สานลายต่างๆและดินผสมกับฟาง ส่วนพื้นเรือนนั้นคนไทด่อนนิยมใช้ไม้ไผ่สับเป็นผืนแล้วนำมาวางเรียงกันเป็นผืน ระเบียง เรือนไทดำและไทด่อนแตกต่างกันเล็กน้อย ระเบียงของไทดำจะสร้างไว้ตลอดแนวยาวของเรือน ส่วนระเบียงของไทด่อนเป็นระเบียงเล็กๆ ที่เชื่อมระหว่างบันไดกับด้านหน้าเรือน ซึ่งมีพื้นที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับระเบียงของชาวไทดำ หน้าต่าง รูปแบบของหน้าต่างจะสูงในแนวตั้ง ประมาณ 1.5-2 เมตร จากชายคาถึงพื้นเรือน ซึ่งด้านในกั้นด้วยไม้ระเบียงความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร บานหน้าต่างจะเรียงติดกันหลายบาน เมื่อเปิดหน้าต่างออกในตอนกลางวันก็จะมีลักษณะคล้ายระเบียงทำให้ตัวบ้านเปิดโล่ง เมื่อเวลาปิดหน้าต่างในตอนกลางคืนก็จะเหมือนฝาเรือน จะเห็นว่าเรือนของไทด่อนและไทดำนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากอาศัยอยู่ในคนละเมือง มีระยะทางที่ห่างไกลกันออกไป แล้วแต่รสนิยมหรือความชอบของแต่ละกลุ่มว่าจะออกแบบตกแต่งเรือนของตนให้เป็นอย่างไร ซึ่งแสดงออกจากการที่ไทด่อนมีรูปแบบเรือนที่หลากหลาย ทั้งในเรื่องของการตกแต่ง วัสดุที่ใช้และขนาดของเรือน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลุ่มไทด่อนมีการปรับตัวตามสมัยนิยมมากกว่ากลุ่มไทดำที่ยังมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเคร่งครัด สังเกตจากเรือนของชาวไทดำทุกหลังต้องมีห้องผีตั้งอยู่ในห้องแรกของเรือน ก่อนที่จะเป็นห้องนอนของผู้อาวุโส แสดงให้เห็นถึงการเคารพผีอย่างสูงสุดมีความหมายในเชิงสัญญะว่าผีบรรพบุรุษเป็นใหญ่กว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวทุกคนจึงควรเคารพและประพฤติตนตามจารีต แม้ว่าผู้ที่เป็นเจ้าของเรือนหรือผู้อาวุโสจะมีสิทธิและอำนาจอันชอบธรรมแต่ก็ต้องยอมรับอำนาจที่เป็นนามธรรมของผี การที่ชาวไทดำมีห้องผีไว้ในเรือนจึงหมายถึงการอยู่ร่วมกันของเชื้อสายเครือญาติเดียวกันแม้จะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ดังนั้นผีในโลกทัศน์ของขาวไทดำจึงเปรียบเสมือนเสาหลักของตระกูล เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและสามารถปกปักรักษาสวัสดิภาพของลูกหลานได้ นอกจากห้องผีจะเป็นที่สิงสถิตของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ยังเป็นที่เก็บ “ถุงไต้” หรือถุงใส่วันเดือนปีเกิดของผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น เสมือนกับการฝากให้ผีบรรพบุรุษเป็นผู้รักษาขวัญของลูกหลานให้ปลอดภัย ดังนั้นความสำคัญของห้องผีในกลุ่มไทดำไม่ใช่เพียงแค่สถานที่กราบไหว้เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษเท่านั้น แต่ยังหมายถึงใจกลางหรือขวัญซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรือนด้วย จะเห็นได้ว่ารูปแบบเรือนและการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไทด่อนและไทดำในเวียดนามนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความคิดเรื่องผีเป็นอย่างมาก เพราะกลุ่มไทนี้ยังไม่มีแนวคิดความเชื่อด้านศาสนาจากภายนอกเข้ามาปะปนมากนัก แตกต่างจากคนไทกลุ่มอื่นๆ ที่นับถือพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมร่วมของคนไททุกกลุ่มที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนหรือเขตประเทศใดๆ ก็จะนิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง รวมถึงการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ริมแม่น้ำและภูเขา ที่ถือว่าเป็นชัยภูมิที่ดี ในปัจจุบันกลุ่มไทในเวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 12 หัวเมืองตามเขตจังหวัดต่างๆ ซึ่งบางเมืองก็ถูกเรียกตามภาษาเวียดนาม แต่กลุ่มไทเหล่านี้ยังไม่ค่อยเปิดรับวัฒนธรรมของคนภายนอกเพราะการนับถือผียังมีความมั่นคงมาก [1] สรุปผลงานวิจัยโครงการส่งเสริมกลุ่มวิจัย สกว. โครงการภูมิปัญญา พัฒนาการ และความสัมพันธ์ระหว่างกันของเรือนพื้นภิ่นไทย-ไท : คุณลักษณะของสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมในเรือนพื้นถิ่น. หน้า 13-14. [2] สรุปผลงานวิจัยโครงการส่งเสริมกลุ่มวิจัย สกว. โครงการภูมิปัญญา พัฒนาการ และความสัมพันธ์ระหว่างกันของเรือนพื้นภิ่นไทย-ไท : คุณลักษณะของสถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อมในเรือนพื้นถิ่น. หน้า 12-13. เรื่องเเละภาพประกอบโดย : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 5 มกราคม 2565 • การดู 2,182 ครั้ง
รูปแบบและลักษณะบ้านของไทดำ
รูปแบบและลักษณะบ้านของไทดำ จะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นสองทาง คือด้านหน้าเรือนและด้านหลังของเรือน วัสดุที่ใช้สร้างจากไม้จริงและไม้ไผ่ผสมกัน มีส่วนประกอบอยู่ 3 ส่วนที่ชัดเจน คือเฉลียง หรือ “กว้าน” อยู่ทางด้านหัวเรือน ส่วนกลางเรือนจะเป็นที่อยู่หลับนอน มีการกั้นผนังด้วยไม้อย่างแน่นหนาและส่วนท้ายเรือนจะเป็นชาน ภายในตัวเรือนเป็นที่โล่งตามแนวยาว จำนวนของห้องเสาจะเป็นเลขคี่ตามความเชื่อที่เป็นมงคล[1] มีการแบ่งส่วนของห้องนอนไว้ตามช่วงเสาในแนวยาวด้วย การแบ่งห้องนอนจะกั้นตามช่วงเสาซึ่งจะทราบจำนวนสมาชิกที่อาศัยอยู่ตามห้องที่กั้นด้วยผ้าม่าน ห้องแรกของบ้านจะเป็นห้องของผีประจำตระกูล ส่วนห้องนอนของผู้อาวุโสหรือพ่อแม่จะอยู่ถัดมา จากนั้นก็จะเป็นห้องของลูกคนโตไล่มาจนถึงลูกคนเล็ก ในอดีตชาวไทดำนิยมทำเรือนแบบหลังคาโค้งทรงกระดองเต่า ซึ่งมีขนาดเล็กและเป็นแบบดั้งเดิมที่มีการใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนเรือนแบบหลังคาตรง เป็นรูปทรงของเรือนในสมัยนี้ ใช้ไม้จริงเป็นโครงสร้างผสมกับไม้ไผ่ที่ใช้เป็นส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ฝาเรือน ระเบียง เป็นต้น การแบ่งห้องนอนของชาวไทดำ ส่วนประกอบของเรือนไทดำ บันได เรือนไทดำจะมีทางขึ้นเรือนทั้งด้านหน้าและด้านหลังเรือน หากในสังคมที่เคร่งครัดผู้หญิงจะสามารถใช้ได้เพียงบันไดทางหลังเรือนเท่านั้น ส่วนใหญ่บันไดของเรือนที่อยู่ในชนบทจะไม่มีราวบันได แต่บันไดของเรือนที่อยู่ในเมืองจะเพิ่มความปลอดภัยและความสวยงาม ในการตกแต่งราวบันไดด้วยการฉลุไม้อย่างง่ายๆ หลังคา วัสดุที่ใช้ทำหลังคาจะเป็นหญ้าคา กระเบื้องทรงเหลี่ยมหรือกระเบื้องว่าว และกระเบื้องลอน บางทีก็จะพบกระเบื้องที่ทำมาจากหินชนวน ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะประยุกต์ใช้ตามสิ่งแวดล้อมและความนิยมของแต่ละเมือง ในเขตชนบทจะนิยมใช้หญ้าคามุงหลังคา ส่วนเขตเมืองก็จะใช้กระเบื้องแทน เหนือจั่วเรือนด้านหน้าเรือนจะมี “เขากุด” ประดับอยู่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเขาควาย ทำจากไม้เป็นรูปแบบที่ต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าของเรือนและช่าง ซึ่งสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมของเจ้าของเรือน[2] ปัจจุบันจะทำมาจากไม้สองชิ้นวางไขว้กันแล้วแกะลวดลาย รูปแบบของเขากุดที่ทำมาจากไม้แกะเป็นลวดลายต่างๆ เสา ทำมาจากไม้จริงทั้งท่อน เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทานสูงกว่าไม้ไผ่ รูปทรงของเสาเป็นทรงกระบอก มีความยาวตั้งแต่พื้นจนถึงชายหลังคา ลักษณะการตั้งเสาจะไม่ใช้วิธีการฝังแต่จะวางบนก้อนหินขนาดใหญ่โดยไม่มีการยึด ปัจจุบันมีการปรับมาใช้ฐานรองที่ทำได้สะดวกโดยการหล่อเทปูนซีเมนต์ให้สูงขึ้นมาในระดับหนึ่ง แล้วจึงนำเสาวางไว้บนฐานซีเมนต์นั้น คาน โครงสร้างของคานใช้ไม้จริงเช่นเดียวกับเสา ซึ่งมีทั้งการใช้ไม้ทรงกลมทั้งท่อนและแบบปรับแต่งไม่ให้เป็นทรงสี่เหลี่ยม วิธีการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ นั้นจะใช้ลิ่มและเดือย โดยช่างจะใช้สิ่วในการเจาะรูไม้และทำสลักเพื่อประกอบไม้เข้าด้วยกัน วิธีการนี้จะทำให้โครงสร้างของเรือนแข็งแรง ในส่วนของโครงสร้างหลังคาจะใช้ไม้ไผ่ในการยึดกระเบื้องและหญ้าคาเพราะเป็นวัสดุที่มีขนาดเล็กและเบา ช่วยลดน้ำหนักของหลังคาได โครงสร้างของเสาและคานของเรือน เมื่อมองจากภายในเรือน ฝาเรือนและพื้น เรือนแต่ละหลังจะมีการผสมผสานของวัสดุในการทำฝาเรือนหลากหลายชนิด วัสดุที่นิยมใช้มี 3 ชนิดคือ ไม้กระดาน ไม้ไผ่สานและฝาที่ทำมาจากดินผสมกับฟางซึ่งมีลักษณะคล้ายปูน นิยมใช้มากในส่วนที่เป็นครัว ไม้ที่ใช้ทำพื้นเรือนจะเป็นไม้จริงที่แต่งทรงให้เป็นแผ่น บางหลังก็ใช้ไม้ไผ่ทั้งปล้องแล้วสับไม้ให้เป็นผืน เรือนครัว เดิมทีชาวไทดำไม่มีเรือนครัวแยกออกมาอย่างเป็นสัดส่วนเหมือนปัจจุบันที่สร้างเรือนครัวแทนชาน เพราะเตาหรือจี่ไฟในภาษาไทดำนั้นจะอยู่ภายในตัวเรือน โดยเตามีลักษณะเป็นกระบะทรงสี่เหลี่ยม มีก้อนหินวางอยู่ ใช้ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเตาแบบนี้เหมือนกับที่คนไทยใช้กันในสมัยก่อน เหนือเตาขึ้นไปจะมีไม้ไผ่สานเป็นแผงห้อยอยู่ เพื่อเก็บข้าวของเครื่องใช้ และวัตถุดิบเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหาร เรื่องเเละภาพประกอบโดย : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 5 มกราคม 2565 • การดู 3,395 ครั้ง
ถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง)
ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เป็นแหล่งที่ตั้งอาศัยของคนไทหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ไทขาว ไทดำ ไทแดง รวมถึงกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่มีการแสดงออกทางเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนจากการแต่งกาย ประเพณีและที่อยู่อาศัย เป็นต้น ในด้านสถาปัตยกรรม บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น เป็นการแสดงออกถึงการดำรงชีวิตอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เรือนของกลุ่มคนต่างๆ จึงสะท้อนถึงตัวตนของชาติพันธุ์นั้นๆ ออกมาอย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยทางด้านวิธีคิดและความเชื่อประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งถิ่นฐาน กลุ่มชนชาวไทในเวียดนามมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขา เลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรกรรมและมีความเชื่อที่แฝงเกี่ยวกับธรรมชาติ ในรูปแบบของผี ซึ่งมีทั้งผีที่เป็นรูปแบบของเทพ คือ ผีแถนและผีที่คุ้มครองบ้านเรือนและคนในครอบครัว คือผีบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าไทดำและไทด่อน(ไทขาว) เป็นกลุ่มชนชาติเดียวกันแต่ลักษณะของแต่ละกลุ่มนั้นก็มีสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ การตั้งถิ่นฐานและวิถีชีวิตของกลุ่มชาวไทดำและไทด่อน(ไทขาว) ในดินแดนสิบสองจุไท อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทดำและไทด่อนมาแต่อดีต เป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ระหว่างหุบเขา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนามเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวลงมาจากทางตอนใต้ของจีน เทือกเขาที่สำคัญคือ ภูแดนดิน ภูสามเส้า สลับกับที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสภาพอากาศจะชุ่มชื้นจนถึงแห้งแล้ง เนื่องจากอยู่ใกล้กับเขตร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร ในเขตป่าทึบและที่ภูเขาสูงจะมีสัตว์ป่าพืชพันธุ์ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ประชาชนนิยมเลี้ยงชีพด้วยการเก็บของป่าและทำการเกษตร จากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ การดำรงชีวิตของกลุ่มไทจึงมีความเรียบง่าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ทั้งยังมีการเพาะปลูกเลี้ยงชีพอย่างพอเพียง โดยแต่ละบ้านจะมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์พอกินพออยู่ภายในครัวเรือน ส่วนพื้นที่สาธารณะ เช่น หนองน้ำ แม่น้ำ บริเวณป่า ก็จะเป็นที่ของชุมชนในการหาปลาและของป่าได้ร่วมกันในสังคม ดังนั้นความเป็นอยู่ภายในแต่ละหมู่บ้าน จึงมีความสัมพันธ์กับอย่างแนบแน่น การสร้างเมืองของกลุ่มไทในเวียดนาม ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่หลายๆ ท่าน ต่างก็ให้เหตุผลที่ต่างกันว่าแหล่งที่คนไทอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นที่อยู่แต่เดิมหรือมีการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของกลุ่มไทที่เป็นตำนานของพญาแถน น้ำเต้าปุง และตำนานเมืองแถน อันเป็นต้นกำเนิดของเมืองในกลุ่มไท โดยมีความคล้ายคลึงกับตำนานเรื่องเล่าคล้ายกับเผ่าไทอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในจีนหรือลาว ซึ่งการกำเนิดของกลุ่มไทเรื่องการตั้งที่อยู่แต่เดิมนั้นยังเป็นปัญหาที่นักวิชาการยังให้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ จึงมีอยู่หลายทฤษฏี เช่น ในตำนานน้ำเต้าปุงก็จะเชื่อมโยงการเกิดขึ้นของคนกลุ่มข่าแจะ ไทดำ ลาว ฮ่อ และสุดท้ายคือแกว (ญวน) ว่าเกิดมาจากน้ำเต้าลูกเดียวกัน จึงเสมือนเป็นพี่น้องกัน จากตำนานและเรื่องเล่านี้มีการนำเอากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นมาร้อยเรียงให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างเชื้อชาติ ในอดีตหัวเมืองต่างๆ ของไทดำที่มีเจ้าเมืองคนไทปกครองอยู่นั้น มีจำนวนทั้งหมด 16 เมือง แต่ในช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามและได้มีแบ่งดินแดนกับจีนเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ยกเมืองให้จีนไป 6 เมือง จึงเหลือเพียง 10 เมือง ภายหลัง ฝรั่งเศสได้ยกระดับหัวเมืองย่อยขึ้นมาเป็นเมืองหลักอีก 2 เมือง จึงรวมเป็น 12 เมือง และเรียกว่า สิบสองจุไท[1] ซึ่งเป็นเมืองที่มีกลุ่มไทด่อน อาศัยอยู่ 4 เมืองและไทดำอาศัยอยู่ 8 เมืองดังนี้[2] เมืองแถง หรือเมืองแถน ( Diên Biên Phư ) เมืองควาย ( Tuần Giáo ) เมืองลอ ( Nghia Lô ) เมืองม่วย ( Thuần châu ) เมืองลา ( Sơn La) เมืองม่วก หรือเมืองมัวะ หรือเมืองโมะ ( Mai sơn ) เมืองวาด หรือเมืองหวัด ( Yên châu ) เมืองถาน ( Thần Uyên ) เมืองไล ( Lai Châu ) เป็นเมืองศูนย์กลางของกลุ่มไทขาว เมืองสอ ( Phong Thố ) เมืองเติ๊ก ( Phu Yên ) เมืองสาง ( Mộc châu ) จำนวนเมืองทั้งหมดของกลุ่มไทที่กล่าวในข้างต้นนั้น เมืองไล เมืองสอ เมืองเติ๊ก และ เมืองสาง เป็นเมืองที่ไทด่อนอยู่อาศัย โดยมีเมืองไลเป็นศูนย์กลาง ส่วนเมืองศูนย์กลางของกลุ่มไทดำคือเมืองแถน ในอดีตคนไทมีการแบ่งกลุ่มของตัวเองตามชื่อเมืองที่อาศัยอยู่ เช่น ไทเมืองลอ ไทเมืองสาง เป็นต้น ภายหลังเมื่อชาวตะวันตกเข้ามา มีการใช้สีของชุดที่สวมใส่ และลักษณะทางกายภาพอื่นเป็นตัวแบ่งประเภทของคนไทตามโลกทัศน์ชาวตะวันตก ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของกลุ่มคนไทในพื้นที่รวมถึงคนภายนอกที่เข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มคนไทในช่วงแรกๆ [1] คำจอง. 2537. ประวัติศาสตร์และเอกสารไทดำในเวียดนาม. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ. หน้า 2-3 . [2] ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท . ภัททิยา ยิมเรวัต . 2544. หน้า 15. สภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไท ไทดำและไทด่อนเป็นกลุ่มคนไทที่นิยมตั้งถิ่นฐานในแถบที่ราบลุ่มหุบเขา เลียบลำน้ำตลอดสองข้าง ซึ่งแม่น้ำที่สำคัญคือแม่น้ำดำ หรือ “น้ำแต” ตามภาษาไท หรือ “ซงดา” ในภาษาเวียดนาม โดยทั่วไปแล้วไทดำและไทด่อนจะมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน แต่จะต่างกันบ้างที่ความเชื่อเรื่องการนับถือผี ภาษาและการแต่งกาย เช่น ไทดำจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่กลุ่มไทด่อนไม่มีคือการใช้ “ผ้าเปียว” ซึ่งเป็นผ้าคลุมศีรษะสำหรับสตรีที่แต่งงานแล้ว เป็นต้น การสร้างบ้านเรือนและแหล่งที่อยู่อาศัยของไทดำและไทด่อนนั้น จะมีลักษณะพิเศษของกลุ่มคนไทที่เห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันกับชนชาติอื่นๆ คือ 1. ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีทำเลเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่าน ดังนั้นหมู่บ้านจะอยู่ระหว่างกลางของภูเขาสูงขนาบทั้งสองด้าน ซึ่งจะไม่พบกลุ่มไทสร้างบ้านอยู่ตามสันเขาหรือที่สูงเลย 2. การตั้งบ้านเรือนจะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกันบนที่ราบเชิงเขา หรือเป็นที่ดอน ส่วนที่ทำการเกษตรจะอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่ต่ำลงมา โดยที่ดินในการทำการเกษตรจะแยกออกมาคนละส่วนไม่ปะปนกับพื้นที่สร้างบ้านเรือนในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านออกไปทำนาก็จะเดินทางออกจากบ้านเรือนของตนไปยังที่นาซึ่งจะอยู่ใกล้กัน 3. ถัดจากบริเวณหมู่บ้านขึ้นไปทางเนินเขาก็จะเป็นที่ป่า ตามความคิดของคนไทดำเชื่อว่า ป่าคือที่อยู่ของผีซึ่งเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นบริเวณนี้จึงเป็น “ป่าแฮ่ว” หรือป่าช้าที่ใช้ในพิธีกรรมฝังคนตาย โดยมีการถวายหรือทำบุญให้ศพด้วยการสร้างบ้านหลังเล็กๆ ไว้ครอบหลุมศพ หรือเรียกว่า “เฮือนแฮ่ว” 4. กลุ่มคนไท มีความสามารถในการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรได้เป็นอย่างดี เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรอยู่บนพื้นราบ ไม่สามารถสร้างทางกั้นน้ำได้สะดวกนัก จึงใช้วิธีการทำกังหันวิดน้ำ หรือ “หลุก” ในการปันน้ำเข้าสู่ที่นา ระบบการจัดการน้ำนี้เรียกว่า “เหมือง ฝาย หลาย ริน”[1] มาจาก - เหมือง คือ คลองส่งน้ำ - ฝาย เป็นเขื่อนกั้นน้ำและกักเก็บน้ำ - หลาย คือคันดินหรืออาจจะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่ใช้กั้นเพื่อลัดน้ำ - ริน คือท่อส่งน้ำไปยังแปลงนา รินในระยะแรกน่าจะเป็นไม้ไผ่ [1] ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท . ภัททิยา ยิมเรวัต . 2544. หน้า 51. เรื่องเเละภาพประกอบโดย : นางสาวฐาปนีย์ เครือระยา
เผยแพร่เมื่อ 5 มกราคม 2565 • การดู 7,164 ครั้ง
ปอยออกหว่า (ปอยเหลินสิบเอ็ด) ออกพรรษาของไทใหญ่
ชื่อนี้เป็นภาษาไทใหญ่ ซึ่งหมายถึงการฉลองในเดือน 11 คือวันออกพรรษา เป็นการเฉลิมฉลองด้วยความปรีดาที่พระพุทธเจ้ากลับลงมายังโลก หลังจากที่ไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดระยะเวลาเข้าพรรษาซึ่งนานถึง 3 เดือน พบว่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีงานนี้ตั้งแต่ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือนเดียวกัน โดยชาวบ้านจะเริ่มการจับจ่ายซื้อของและจัดเตรียมเครื่องไทยทานตั้งแต่ขึ้น 13 ค่ำ เพื่อไปถวายทานในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยเฉพาะจะมี “เข้าหนมจ็อก” คือขนมอย่างขนมเทียน อาหารที่นิยมทำกันก็คือแกงฮังเลและเนื้อลุง (เนื้อสับละเอียดผสมเครื่องแกงทำเป็นก้อนกลมคล้ายลูกชิ้นแล้วนำไปทอด) ขนมนี้นอกจากจะนำไปถวายพระแล้ว ยังแจกกันกินตามหมู่ญาติมิตรและใกล้บ้านเรือนเคียง วันที่สนุกสนานที่สุดก็คือตอนเย็นของวันขึ้น 13 ค่ำ จะมีการจัดตลาดนัดซึ่งของส่วนใหญ่คือของที่จะนำไปถวายพระ ตลาดนี้จะดำเนินต่อไปทั้งคืนจนรุ่งเช้าแล้วต่อเนื่องไปถึงเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำอีกด้วย นอกจากจัดอาหารและขนมไปวัดแล้ว บางบ้านอาจจะทำประทีปโคมไฟและจองพาราหรือพุทธบัลลังก์อีกด้วย ในวันขึ้น 15 ค่ำนั้น ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าแล้วเตรียมต่างซอมต่อ คือถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธรูปและแม่ธรณีเจ้าที่แล้วจึงไปวัด เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้ว ผู้เฒ่าบางท่านอาจนอนค้างที่วัดเพื่อบำเพ็ญกุศลกรรมจำศีลภาวนาอีกคืนหนึ่งในเย็นวันขึ้น 15 ค่ำนี้ ชาวบ้านจะจุดเทียนประดับที่จองพาราและจุดเทียนสว่างที่หน้าบ้านหรือตามแนวรั้ว บ้างก็ใช้ไม้สนมัดรวมกันแล้วจุดไฟตั้งไว้ที่หน้าบ้าน ซึ่งการจุดไม้สนนี้จะจุดไม่นานนักก็จะดับไฟ เพื่อใช้จุดในวันต่อๆไปอีก ตั้งแต่คืนวันขึ้น 15 ค่ำเป็นต้นไป พอตกกลางคืนประชาชนนิยมไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปและเจดีย์ตามวัด จากนั้นจึงจะพากันไปจุดเทียนบูชาผีเจ้าบ้านเจ้าเมือง นอกจากจะมีการจุดเทียนบูชาดังกล่าวแล้ว ในบางคืนอาจมีการฟ้อนรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ฟ้อนนก ปลา โต ผีเสื้อ หรือสัตว์อื่นๆ เพื่อแสดงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมายังโลกนั้น นอกจากมนุษย์และเทวดาแล้ว ส่ำสัตว์ทั้งหลายก็พากันดีใจออกมาฟ้อนรำรับเสด็จด้วย การฟ้อนนี้จะมีไปจนถึงคืนวันแรม 14 ค่ำ ในคืนแรม 14 ค่ำนั้นจะมีการแห่ต้นแปกหรือต้นสน อันได้จากการนำไม้สนมาจักแล้วมัดรวมกันทำเป็นต้นไม้ เมื่อแห่ไปถึงวัดแล้วก็จะมีพิธีจุดไฟที่ต้นไม้ดังกล่าวและปล่อยให้ไหม้จนหมด การจุดไฟให้ไหม้หมดนี้ เรียกว่า มอดไฟเทียน ซึ่งถือว่าเสร็จสิ้นปอยเหลินสิบเอ็ด ประเพณีแห่จองพารา คือประเพณีบูชาปราสาทพระของคนไตหรือชาวไทยใหญ่ เป็นประเพณีที่มีความสำคัญสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน อีกหนึ่งอย่าง ซึ่งประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ดจะจัดขึ้นในเดือน 11 ระหว่างขึ้น 13-14 ค่ำ ประชาชนจะซื้ออาหารและสิ่งของต่างๆ สำหรับไปทำบุญที่วัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เมื่อถึงรุ่งเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา จะมีการตักบาตรเทโวโรห ตอนกลางคืนตามบ้านเรือนและวัดต่างๆ จะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว มีการแห่ “จองพารา” หรือ “ปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า” ซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม มีการแสดงการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ ประเพณีนี้มีพื้นเพจากความเชื่อที่ว่าถ้าได้จัดทำจองพาราหรือปราสาทพระรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่บ้านของตนเองแล้วครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข ได้บุญกุศลส่งผลไปถึงการประกอบอาชีพ และจะได้รับผลสำเร็จตลอดทั้งปี จองพาราจะมีส่วนประกอบโครงที่ทำจากไม้ไผ่ บุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีบุลายศิลปะชาวไต ซึ่งมี 2 กลุ่มลาย คือกลุ่มนอนเคอ (ลานเคลือเถา) ลักษณะลายที่เขียนเป็นเถาติดต่อกัน ประกอบด้วยก้านใบ ดอก และเถาเลื้อย เน้นความสวยงามของเส้นโค้งที่อ่อนช้อย อีกหนึ่งกลุ่ม คือ ลาบใบหมากเก๋ง (ลายสัปะรด) ลักษณะใบหมากเก๋งเป็นรูปลายประดิษฐ์ใบเรียว คล้ายกับรายกนก ลายกะจง ลาบกลีบบัว ชาวบ้านจะนำอาหารที่ประกอบด้วย ข้าวสวย ขนม ผลไม้ ใส่ในกระทงใบตองวางไว้บนจองพารา จุดธูปเทียนกล่าวอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้มาเสด็จประทับที่จองพาราเพื่อเป็นสิริมงคล และจะตั้งไปจนครบ 7 วัน เมื่อสิ้นสุดการบูชา ก็จะนำจองพาราไปทิ้งหรือเผา บ้างก็เอาไว้นอกชายคาบ้านนอกรั้ว ไม่นิยมเก็บไว้ในบ้าน เมื่อถึงปีถัดไปก็จะทำใหม่อีกครั้ง สำหรับชาวไทยใหญ่นั้นประเพณีจองพาราเปรียบเสมือนการทำบุญครั้งใหญ่ เป็นส่วนสำคัญของประเพณีไทใหญ่ทั่จดทำกันในช่วงออกพรรษา โดยที่มีความศรัทธาและความเคารพในพุทธศาสนาเป็นตัวแกนหลัก ในการจัด และในปัจจุบันนี้จองพาราถือเป็นประเพณีที่นักท่องเที่ยววัฒนธรรมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการจัดประเพณีที่ยิ่งใหญ่ในอำเภอแม่ฮ่องสอนเอง และด้วยความน่าสนใจของประเพณีนี้ในหลายพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้มีการเริ่มนำจองพารามาเป็นสื่อในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒธรรมเช่นกัน ขอบคุณข้อมูลจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 7 ภาพโดย : นายต่อพงษ์ เสมอใจ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.
เผยแพร่เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 • การดู 6,118 ครั้ง
วิถีผ้าทอไทยลื้อท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
ปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และกระแสโลกาภิวัตน์ วิถีชีวิตของมนุษย์จึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อาทิเช่น การแต่งกาย อาหาร การดำรงชีวิต จะสังเกตเห็นว่า ในสมัยโบราณการดำรงชีวิตของผู้คนจะมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย งดงาม ใช้ชีวิตโดยเคารพในธรรมชาติ ปรับตัวอยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข ความสุขของคนสมัยนั้นสามารถหามาได้ง่ายๆกับชีวิตรอบตัว ชีวิตไม่จำเป็นต้องดิ้นรนตามความต้องการที่มีมากเกินความจำเป็นดังเช่นสมัยปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนชนบทในสมัยโบราณมักเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและเกษตรกรรม ฤดูฝนจะมีการหว่านกล้าดำนาในช่วงเดือนเก้า(เหนือ) เดือนสิบ(เหนือ) หรือช่วงเข้าพรรษา ในระหว่างการปลูกดำนา ก็จะมีการหาปู หาปลา เพื่อเลี้ยงชีพ พ่อบ้านที่ว่างจากการทำงานก็จะไปเป็นพรานล่าสัตว์ ส่วนแม่บ้านจะปลูกฝ้ายในเดือนแปด เดือนเก้า และเก็บเอายวงฝ้ายมาอีดและปั่นเป็นเส้นฝ้าย ซึ่งมีการนำศิลปะการแสดงมาร่วมกับการทำงานเพื่อให้การทำงานสนุกสนานไม่น่าเบื่อ เกิดวรรณกรรมล้านนาขึ้นหลากหลายเรื่องราว อาทิเช่น จ๊อยจีบสาว ฟ้อนสาวไหม เพลงปั่นฝ้าย เป็นต้น ทัศนีย์ กาตะโล ครูโรงเรียนสะเมิงพิทยาคม อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 22 เมษายน 2563 • การดู 2,551 ครั้ง
ปรัชญาการรักษาโรคแบบตะวันออก- อัตลักษณ์ของอาเซียน
ประวัติศาสตร์ของแนวคิดและการรักษาโรคของตะวันออกมีความเป็นมายาวนาน และมีความคล้ายคลึงกันทั้งๆ ที่ทวีปเอเซียเป็นทวีปที่กว้างใหญ่ โดยเฉพาะในอาเซียน ไม่ว่าไทย พม่า ลาว เขมร แม้กระทั่งชาวเกาะแบบฟิลิปปินส์ อินโดเนเซีย ก็ล้วนมีปรัชญาในการรักษาแบบพื้นถิ่นที่ใกล้เคียงกัน กล่าวได้ว่าอัตลักษณ์ของการแพทย์โบราณของอาเซียนนั้นเป็นอย่างเดียวกัน การแพทย์พื้นบ้าน การดูแลสุขภาพของคนเอเซีย หรือชาวอาเซียน นับได้ว่าเป็นปรัชญาที่มีรากเหง้าอันเดียวกัน คนเอเชีย และชาวอาเซียนให้ความสำคัญกับอาหารการกิน ถือว่าอาหารเป็นยา ดังนั้นจึงมีอาหารต้องห้ามในแต่ละโรค มีอาหารที่ต้องกินหากป่วยด้วยโรคหนึ่ง ๆ มีการใช้สมุนไพรที่ใกล้เคียงกัน มีการนวด และแม้แต่การออกกำลังกายก็มีปรัชญาตรงกัน คือ ใช้หลักกายเคลื่อนไหว ใจสงบ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ชี่กง ไท้เก็ก หรือ ฤาษีดัดตน ปรัชญาการรักษาสุขภาพของคนเอเชียมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่อินเดีย และจีน ดูเหมือนว่าทั้งสองแห่งนี้ก็ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดของกันและกันอยู่ไม่น้อย ส่วนชนชาติเอเซียอื่นๆ โดยเฉพาะในอาเซียน แม้ว่าจะมีภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพของตนเองแต่ก็ได้รับอิทธิพลจากจีนบ้าง อินเดียบ้าง แล้วแต่ว่าในสมัยโบราณชาติไหนจะมีการสมาคม ติดต่อกับที่ไหนมากกว่า ในอินเดียมีการรักษาเป็นระบบมาตั้งแต่ 2,400 ปีก่อน อินเดียมีตำราอายุรเวท ซึ่งแปลว่า “วิทยาการแห่งชีวิต” เปรียบเสมือนตำราแพทย์เล่มใหญ่ ภาคส่วนที่เป็นตำรายาชื่อ “จารกะ สังหิตา” เขียนขึ้นโดยหมอยาโบราณชื่อจารกะตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล และมีภาคส่วนของตำราศัลยกรรมชื่อ “ศศรุต สังหิตา” ซึ่งเขียนขึ้นโดยหมอศัลยกรรมคนแรกๆ ของโลกก็ว่าได้ ชื่อ ศศรุตตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล จะเห็นว่าความรู้การแพทย์แผนตะวันออก มีความรอบด้านคล้ายๆ กับการแพทย์ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ตำราอายุรเวทจะมีการกล่าวถึงการใช้สมุนไพร เกลือแร่ การผ่าตัด การรักษาโรคด้วยพิธีกรรม และการให้ทาน ความเชื่อทางการแพทย์ตามแบบอายุรเวท เน้นหนักไปที่ปราณหรือพลังชีวิต ในร่างกายมีทางเดินของปราณที่แน่นอน การเคลื่อนที่ของปราณมีจุดตัดกันที่เรียกว่าจักระ จักระทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 7 ตำแหน่ง เรียงกันอยู่ตรงกลางของลำตัวตามแนวของกระดูกสันหลัง เรียงจากบนลงล่าง ตั้งแต่กระหม่อมลงไปถึงก้นกบ แต่ละจักระมีความสัมพันธ์กับต่อมต่างๆ ในร่างกาย คนอินเดียเชื่อว่า เมื่อใดที่จักระเสียความสมดุล หรือการเคลื่อนไหลของปราณติดขัด ร่างกายก็จะป่วย การรักษาโรคจึงต้องปรับจักระที่มีปัญหา โดยการใช้ยาสมุนไพร อาศัยการนวด และการฝึกโยคะ การแพทย์แผนจีนก็มีการพูดถึงการเคลื่อนไหวของพลังงานหรือชี่ ชี่มีความสัมพันธ์กับอวัยวะภายในต่างๆ กัน และแนวคิดของการเกิดโรคก็เป็นเช่นเดียวกับอินเดีย หากเมื่อใดที่ทางเดินของชี่ติดขัดก็จะเกิดความเจ็บป่วย ปรัชญาการรักษาโรคของจีนจึงอาศัยหลักคิดทำนองเดียวกับอินเดีย คือต้องแก้ไขความติดขัดของชี่ โดยใช้สมุนไพร ใช้การฝังเข็ม ชี่กง และการรมยาเป็นต้น ปรัชญาการใช้สมุนไพรและเกลือแร่จำแนกตามรส คือ ขม หวาน ฝาด เค็ม เผ็ด และ เปรี้ยว อาศัยแนวคิดที่ว่า รสที่ต่างกันมีผลต่ออวัยวะภายในที่ต่างกัน เช่น รสเผ็ดมีผลต่อปอดและลำไส้ใหญ่ รสหวานมีผลต่อกระเพาะและม้าม รสเปรี้ยวมีผลต่อตับ และถุงน้ำดี เป็นต้น การแพทย์แผนจีนและแผนไทยก็ใช้แนวคิดทำนองเดียวกันนี้ รสของสมุนไพรที่ต่างกันก็จะใช้รักษาโรคต่างกันไป แนวคิดนี้ยังครอบคลุมถึงรสชาติของอาหารด้วย คนเอเชียส่วนใหญ่ถือว่าอาหารเป็นยา ในแต่ละฤดูกาลจะกินอาหารอย่างไรจึงจะไม่ป่วย หากไม่สบายแล้วจะต้องกินอย่างไรก็อาศัยแนวคิดเรื่องรสเป็นหลัก สำหรับการผ่าตัด ต้องยอมรับว่าอินเดียเป็นชาติที่ทำการผ่าตัดนำหน้าชาติเอเชียอื่น ๆ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อินเดียมีบทลงโทษนักโทษที่หนักหนาสาหัสรองจากการประหารชีวิตคือ ยังให้รักษาชีวิตเอาไว้ได้ แต่ให้ตัดมือและเท้าเป็นการประจาน ซึ่งหมายความว่า ต้องอาศัยฝีมือผ่าตัด เย็บแผล ห้ามเลือด ตกแต่งบาดแผล เพื่อรักษาชีวิตให้รอด นอกจากนี้ยังมีการแพทย์ กล่าวถึงการผ่าตัดไต ผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและการผ่าตัดอื่นๆ สำหรับการผ่าตัดในช่องท้องอินเดียก็มีเทคนิคเย็บปิดหน้าท้องเฉพาะ ที่ใช้มดดำตัวใหญ่ อาศัยเขี้ยวอันโตของมันหนีบผิวหนังทั้งสองด้านให้ติดกัน มดดำยังมีกรดมดที่เข้มข้น เป็นยาแก้อักเสบของแผลได้อย่างดี อินเดียมีเข็มสำหรับเย็บแผลที่ผิวหนังหน้าตาคล้ายเข็มเย็บผ้าผ้าธรรมดา แต่ใช้เส้นผมหรือเอ็นสัตว์ หรือเส้นใยจากพืชแทนด้ายหรือไหม ในจีน เริ่มแรกทีเดียว การแพทย์เป็นศาสตร์ที่ผสมผสานกันระหว่างการรักษากับศาสนา ราวคริสตศักราชที่ 500 หมอจึงมีบทบาทในการรักษาอย่างแท้จริง แต่การแพทย์แผนจีนไม่ค่อยมีศัลยกรรม อย่างมากก็มีแค่การฝังเข็ม การเจาะเลือดเอาเลือดออกเพื่อรักษาโรค แต่จีนเด่นในเรื่องสมุนไพร จีนมีตำรายาสมุนไพรเป็นพัน ๆ ตำรับ ตำรายาที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ตำราของจักรพรรดิ์เหลือง “หวงตี้ เน่ยจิ่ง” แนวคิดทางการแพทย์ของแผนจีนต่างจากของอินเดียอย่างชัดเจน ตรงที่ใช้ ทฤษฎีหยิน หยาง ที่จริงความเชื่อของจีนนั้นหยินกับหยางเป็นหลักที่ใช้ได้ครอบจักรวาล ทุกอย่างรอบตัวเราประกอบด้วยความสมดุลของหยิน-พลังเย็น-กับหยาง-พลังร้อน-ทั้งนั้น จีนยังให้ความสำคัญกับการจับชีพจรรักษาโรค หมอจีนต้องเรียนรู้ว่าชีพจรมีความแตกต่างกัน แต่ละข้อมือมีตั้ง 6 ชีพจร สองมือรวมกันก็มีชีพจรถึง 12 แบบ แต่ละแบบแทนการไหลของชี่แต่ละเส้น และบ่งบอกถึงนัยแห่งโรคที่แตกต่างกัน หมอจีนอาจจะอธิบายถึงลักษณะของชีพจรว่า “ไหลเหมือนน้ำ” หรือ “เหมือนน้ำหยดลงมาจากหลังคา” ซึ่งลักษณะนี้เองที่บอกถึงโรคที่แตกต่างกัน ยาจีนมีชื่อเสียงมานาน มีมากกว่า 16,000 ขนาน และปัจจุบันก็ใช้กันไปทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครไม่รู้จักโสมในแง่เป็นยาชูกำลัง ใช้ได้ดีสำหรับคนแก่ และคนที่มีอาการอ่อนเพลีย จีนยังเด่นในเรื่องของการฝังเข็ม การฝังเข็มคือการปักเข็มเข้าไปยังจุดต่างๆ ในร่างกายที่อยู่บนเส้นโครจรของพลัง ด้วยความเชื่อที่ว่าเข็มที่ฝังลงไปชั่วครู่ยามจะช่วยปรับสมดุลของการเคลื่อนที่ของพลังในร่างกาย การเลือกใช้จุดฝังเข็มขึ้นอยู่กับโรคและการวินิจฉัยโรค จากตำราของจักรพรรดิเหลืองซึ่งมีอายุเกือบ 2,500 ปี กล่าวถึงการฝังเข็มว่ามีหลายรูปแบบ และกำหนดจุดฝังเข็มเอาไว้ประมาณ 300-600 จุด ซึ่งเห็นได้จากรูปสัมฤทธิ์ที่ขุดได้ในจีนเมื่อศตวรรษที่ 18 เป็นรูปปั้นที่แสดงถึงจุดฝังเข็มตามร่างกาย และมีเส้นโคจรของพลังงานชี่ 12 เส้น การแพทย์ของทิเบตรับเอาแนวคิดของนานาประเทศเอาไว้หลากหลาย ยาสมุนไพรมีส่วนคล้ายคลึงกับการแพทย์จีนค่อนข้างมาก แนวคิดเกี่ยวกับสรีระเป็นแบบกรีกและอราบิก คือเชื่อว่ามีน้ำเหลืองในร่างกาย การแพทย์ทิเบตมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด และจิตวิญญาณซึ่งรับเอามาจากอินเดีย พระลามะยังใช้การสวดมนตร์รักษาโรค ซึ่งศาสตร์แห่งการแพทย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธนิกายวัชระยานเลยทีเดียว หมอยาในทิเบตไม่มีสำนักแน่นอน แต่จะร่อนเร่เดินทางไปรักษาผู้คนโดยแบกร่วมยาที่เต็มไปด้วยสมุนไพร เขาสัตว์ ไม้กวาดยา แถมด้วยมีดและหินลับมีดเอาไว้ลับมีดให้คมยามที่ต้องการผ่าตัด การแพทย์แผนไทย มีความเป็นมาของเราเอง ถือหลักเป็นการแพทย์แนวพุทธะ เดิมทีการแพทย์จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางธรรมชาติ ใช้การผูกหรือมัดขวัญ การเสกเป่า การแก้บน การสืบชาตา และมีการใช้น้ำมนต์ ซึ่งปรับเป็นวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของคนไทยโบราณ คนโบราณไม่ได้มองว่าโรคมีสาเหตุจากเชื้อโรค แต่การเกิดโรคเป็นเพราะร่างกายขาดความสมดุลของธาตุสำคัญทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือขาดความสมดุลกับธรรมชาติ อากาศ ฤดูกาล เป็นต้น การตรวจวินิจฉัยของหมอไทยจะเน้นเรื่องของวันเดือนปีเกิด เพราะมีแนวคิดที่ว่า คนเราเกิดมามีธาตุเจ้าเรือนกำหนดมาตั้งแต่ในครรภ์มารดา จากนั้นจึงตรวจดูว่าอาการที่มีเป็นอาการของธาตุใด ธาตุทั้งสี่ไม่สมดุลอย่างไร อันไหนหย่อน อันไหนกำเริบ หรือพิการอย่างไร จากนั้นจึงใช้ยาสมุนไพรรักษา การรักษาตามแนวแผนไทยจะเน้นการใช้ยาสมุนไพรเป็นหลัก ประกอบกับการนวด อบประคบ ไม่มีการผ่าตัด แม้ว่าหมอไทยมี “มีดหมอ” แต่ก็ไม่ได้ใช้ผ่าตัด หากใช้ข่มความเจ็บป่วยด้วยคาถาอาคม เพื่อสร้างศรัทธา และความขลังในการรักษาเท่านั้น การลงมีดหมอก็ไม่ได้เกิดบาดแผลใดๆ บนร่างกาย การแพทย์แผนไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ยาสมุนไพรส่วนหนึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของเราเอง แต่ก็มีบางส่วนที่รับมาจากอินเดีย มีที่รับมาจากจีนบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย ฤาษีดัดตนก็เป็นศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับโยคะของอินเดียมาก ฤาษีหรือโยคีผู้ปฏิบัติโยคะก็มีที่มาจากชมพูทวีป การแพทย์พื้นบ้านทั่วโลกล้วนมีความเป็นมาอันยาวนาน แต่ทั้งหมดมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น ที่มนุษย์ดิ้นรนเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ สาเหตุของโรคเกิดจากเงื่อนไขภายในร่างกาย การรักษาจึงเป็นการอาศัยธรรมชาติรอบตัวมาปรับสมดุลให้กับร่างกายของตนเอง ปรัชญาการแพทย์โบราณไม่ว่าของชาติไหน เอเชีย อาเซียน อัฟริกา หรือแผนตะวันตก จึงมีจุดอ่อนอยู่ที่ ไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อจากเชื้อโรค เมื่อ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลินฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จุดนั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนของการแพทย์แผนตะวันตก เป็นจุดแห่งพัฒนาการของการแพทย์แผนปัจจุบันที่อาศัยยาเป็นหลัก แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันมีบทบาทสูงมาประมาณ 300 ปี มนุษย์เราก็เริ่มไม่พอใจในวิธีการรักษาแผนปัจจุบันอีกโดยเฉพาะวิธีการรักษาโรคเรื้อรัง ไม่ว่าที่ไหนในโลก คนเราต่างก็หันไปหาการแพทย์แผนพื้นถิ่นที่มีความเป็นมาที่ยาวนานกว่า ที่เน้นความเป็นสมดุลภายในร่างกายเพื่อการหายของโรค จึงไม่น่าแปลกใจที่ยุคนี้ กลับกลายเป็นยุคเฟื่องของการแพทย์ที่นำเสนอภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายาปฎิชีวนะมีคุณยิ่งต่อการรักษาโรคติดเชื้อ ทางออกเพื่อการรักษาที่สมบูรณ์คือ จะต้องประสานปรัชญารักษาโรคแบบบรรพบุรุษให้เข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบันการรักษาโรคจึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น พญ.ลลิตา ธีระสิริ บัลวีเวียงพิงค์ศูนย์ธรรมชาติบำบัด
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 7,775 ครั้ง
ไทลื้อ
ไทลื้อ ชาวไทลื้อ ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน มีเมืองเชียงรุ่ง ในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนาน เป็นศูนย์กลาง ชาวไทลื้อจึงมีประวัติศาสตร์ร่วมกับจีนมาเป็นเวลายาวนาน ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมามีกลุ่มชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพและถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ทางตอนเหนือของพม่า ตอนเหนือของลาว ตอนเหนือของเวียดนาม และทางภาคเหนือของประเทศไทย ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เมื่อย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามที่ต่าง ๆ แล้ว ชาวไทลื้อก็มีการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะในส่วนบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่เดิมนิยมสร้างเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคาขนาดใหญ่ลาดเอียงคลุมลงมาจนถึงฝาเรือน ภายในเรือนเป็นโถงกว้างและไม่นิยมทำหน้าต่างมากนักเพราะเป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เมื่อชาวไทลื้อย้ายถิ่นฐานเข้ามาจึงมีการสร้างเรือนแบบหลังคาสองจั่วตามแบบเรือนไทยวนและมีหน้าต่างเรือนมากขึ้น เพื่อให้ถ่ายเทอากาศ ชาวไทลื้อมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ว่างเว้นจึงนิยมทอผ้าเพื่อไว้ใช้สอยและถวายเป็นพุทธบูชา ถึงแม้ว่าถิ่นฐานของชาวไทลื้อจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แต่การดำรงชีวิตของกลุ่มไทลื้อทุกแห่งจะมีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เหมือนกัน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาษา การแต่งกาย อาหารประเพณี และความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา หญิงสาวชาวไทลื้อมีฝีมือด้านการทอผ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับการฝึกฝนมาจากแม่และญาติพี่น้องฝ่ายหญิง การออกแบบสร้างสรรค์ผ้าทอไทลื้อถือได้ว่ามีความวิจิตรพิสดาร โดยสามารถทำเป็นลวดลายต่างๆ ได้ด้วยเทคนิคการจก การขิด และเกาะล้วง เช่น ลายนาค ลายหงส์ ลายปราสาท เป็นต้น ผ้าทอที่ทำขึ้นนั้นใช้สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่มของคนในครอบครัว รวมถึงเป็นเครื่องใช้จำพวกที่นอน หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ ทั้งนี้หากต้องการทำบุญก็จะทอตุง หรือผ้าที่ใช้ในพุทธศาสนาถวายที่วัด สร้างกุศลให้ผู้หญิงแทนการบวชพระ การแต่งกายของสตรีชาวไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ดสีเข้ม เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุม แต่จะผูกเชือกที่สาบเสื้อด้านซ้าย นุ่งซิ่นต๋าลื้อ อาจมีเพิ่มลวดลายด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม เกล้ามวยผมไว้บนกระหม่อมและเคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อปาหรือเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงขายาวสีเดียวกับเสื้อ ต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู ทั้งชายและหญิงนิยมสะพายถุงย่าม หากไปวัดจะพาดบ่าด้วยผ้าเช็ดทุกครั้ง ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัมนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 23,718 ครั้ง
ลัวะ
ลัวะ ลัวะ หรือ ละว้า หรือ ละเวือะ คือชนเผ่าพื้นเมืองก่อนชาติพันธุ์ไท เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมก่อนการสร้างชาติรัฐล้านนา ในอดีตลัวะเคยมีวิวัฒนาการที่เจริญรุ่งเรือง มีการสร้างบ้านแปลงเมือง มีระบอบการปกครอง มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เมื่อถูกชาติพันธุ์ไทรุกรานจึงถอยร่นสู่ที่ราบเชิงเขาและสันเขา ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตอนเหนือของลาว และทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และน่าน ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวลัวะนิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคาสูงชันคลุมลงเกือบจรดพื้นดิน มุงด้วยหญ้าคาหรือตองตึง มีกาแลสลักไขว้กันสองอันเป็นหน้าจั่ว และเนื่องจากชาวลัวะมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม รอบ ๆ หมู่บ้านจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ชาวลัวะมีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษาลัวะ เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก กลุ่มมอญ-เขมร แต่เดิมมีการนับถือผี โดยเฉพาะผีเสื้อบ้าน และผีบรรพบุรุษ โดยเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะนับถือสายผีตามสามี และบุตรชายคนเล็กจะได้สิทธิ์ในการรับมรดกและดูแลสายผี ภายหลังเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบ จึงได้มีการนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อดั้งเดิม และซึมซับรับวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน สตรีชาวลัวะนิยมสวมเสื้อสีขาวหรือสีดำแขนสั้นกุ๊นด้วยด้ายสี นุ่งซิ่นสั้นครึ่งเข่าสีดำมีลายคั่นเป็นแถบสีแดง ชมพู และน้ำเงินแซมขาว ซึ่งได้จากการมัดย้อมหรือปั่นไก พันแขนด้วยผ้าปอเต๊ะ พันขาด้วยผ้าปอซวง สตรีชาวลัวะนิยมแสกกลางศีรษะมวยต่ำไว้ท้ายทอย ประดับมวยผมด้วยปิ่นขนเม่น สวมสร้อยเงินเม็ด สร้อยลูกเดือย สร้อยลูกปัดสีแดง สีส้ม สีเหลือง และใส่ตุ้มหูไหมพรมยาวถึงไหล่ ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อแขนยาวสีขาวผ่าหน้า นุ่งกางเกงสะดอขาว เคียนหัวด้วยผ้าสีแดงหรือชมพู และพกมีดด้ามงาช้าง ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 31,700 ครั้ง
ไทยวน
ไทยวน ไทยวน หรือคนเมือง คือกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย มักตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่านระหว่างหุบเขา เช่น ลุ่มแม่น้ำปิงเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่และลำพูน ลุ่มแม่น้ำวังเป็นที่ตั้งของเมืองลำปาง ลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่ตั้งของเมืองแพร่ และลุ่มแม่น้ำน่านเป็นที่ตั้งของเมืองน่าน เป็นต้น ในอดีตชาวไทยวนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตามภูมิประเทศที่อาศัยตั้งถิ่นฐาน ทั้งนี้มีชาวไทยวนที่ถูกกวาดต้อนลงไปอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง คือ ตำบลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นต้น ชาวไทยวน มีภาษา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ในสังคมของชาวไทยวนมีความคิดในเรื่องผีผสมพุทธศาสนา โดยเฉพาะผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) จะมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของลูกหลานชาวไทยวนให้ประพฤติตนถูกต้องตามจารีตประเพณีและกรอบที่ดีงามของสังคม อีกทั้งมีความเชื่อเรื่อง “ขึด” คือข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ควรปฏิบัติไม่ให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับตัวเองและครอบครัว ภาษาเขียนและภาษาพูดของชาวไทยวนมีรูปแบบเป็นของตนเอง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพบเป็นการใช้ภาษาเขียนในพระธรรมคัมภีร์พุทธศาสนา และปั๊บสา ใบลาน ทั้งนี้ภาษาเขียนของไทยวน หรือเรียกว่า “อักษรล้านนา หรือ อักษรธรรม” ยังใช้ในกลุ่มชาวไทลื้อ เชียงรุ่ง และไทเขิน เชียงตุงด้วย เนื่องจากในอดีตชาวล้านนาได้นำพุทธศาสนาเข้าไปเผยแพร่ยังสองดินแดนนี้ ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวไทยวนนิยมสร้างเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีทั้งหลังคาแบบจั่วเดียวและหลังคาจั่วแฝด ซึ่งรูปแบบเรือนที่นิยมทำกันมากคือเรือนจั่วแฝดแบบ “เรือนกาแล” ที่มียอดจั่วเป็นไม้ไขว้กัน ตกแต่งด้วยการฉลุลวดลายอย่างสวยงาม การแต่งกายของสตรีชาวไทยวนในอดีตแต่เดิมนิยมเปลือยท่อนบน นุ่งซิ่นต๋าต่อตีนต่อเอว เกล้ามวยผมไว้ท้ายทอย เมื่อมีโอกาสพิเศษจึงมัดอกหรือห่มสะหว้ายด้วยผ้าสีพื้นหรือผ้าลายดอก นุ่งซิ่นตีนจกหรือสอดดิ้นเงินดิ้นทองตามฐานะ ภายหลังนิยมสวมเสื้อแขนกระบอกและห่มสไบสะหว้ายทับ พร้อมหย้องเครื่องประดับสวยงาม ส่วนบุรุษแต่เดิมนิยมเปลือยท่อนบน นุ่งเฅ็ดม่าม นุ่งผ้าต้อย สักต้นขา ภายหลังนิยมแต่งชุดราชประแตน และชุดเตี่ยวสะดอตามสมัยนิยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางและชาวตะวันตก ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 22,283 ครั้ง
ปกาเกอะญอ
กะเหรี่ยง กะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ คนล้านนามักเรียกว่า “ยาง” พม่าเรียกว่า “กะยิ่น” ชาวตะวันตก เรียกว่า “กะเรน” กลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตนเองว่า “กะเหรี่ยง” ประกอบด้วยกะเหรี่ยงหลากหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปกาเกอะญอ (สกอว์) โพล่ง (โปว์) ตองสู้ (ปะโอ) และบะแก (บะเว) แต่เดิมกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นแม่น้ำสาละวิน สหภาพพม่า ต่อมาได้อพยพเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า สู่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ใน 15 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี แม้กะเหรี่ยงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวเขา แต่ก็มิได้อาศัยบนเขาสูงเสียทั้งหมด บางส่วนสร้างบ้านแปลงเรือนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ราบเชิงเขา เหมือนกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยงในบ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวกะเหรี่ยงนิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง มีชานเรือน หลังคาหน้าจั่วยาวคลุมตัวบ้านมุงด้วยหญ้าคา ไม่มีหน้าต่าง และดำรงชีพด้วยเกษตรกรรมและหาของป่า กะเหรี่ยงมีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษากะเหรี่ยง เป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แบ่งเป็นภาษาย่อยได้ 8 ภาษา คือ สะกอ โป กะยา เฆโก มอบวา (บิลีจี , เดอมูฮา) ปาไลซิ ต้องสู้ และ เวเวา นอกจากนี้ยังมีสำเนียงอีกหลายแบบ ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน แด่เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์ และผีต่าง ๆ ที่สถิตตามป่าเขา ลำน้ำ และบริเวณหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ตามที่มิชชั่นนารีได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนจักร การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงแต่ละพื้นที่แต่ละกลุ่ม มีการแต่งกายที่ต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่คล้าย ๆ กันคือ เด็กและหญิงสาวจะเป็นชุดคลุมยาว เป็นผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอหรือปักประดับลวดลายให้งดงาม ส่วนสตรีที่แต่งงานแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน หรือสีเข้ม และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อน ตกแต่งด้วยลูกเดือย หรือทอยกดอก ยกลาย ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยแถบสีไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อสตรี นุ่งกางเกงสะดอ นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 20,104 ครั้ง
ดาราอั้ง
ดาราอั้ง ดาราอั้ง หรือที่ชาวไทใหญ่เรียก “ปะหล่อง” เป็นชนเผ่าที่มีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยสูง กระจัดกระจายอยู่บริเวณรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า และมณฑลยูนนาน ประเทศจีน แต่ด้วยภัยสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2527 ชาวดาราอั้งจำนวนมากต้องข้ามน้ำสาละวินลัดเลาะจากเชียงตอง เมืองปั่น ในเขตเชียงตุง มายังฝั่งประเทศไทย มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาศัยบริเวณบ้านนอแล บ้านห้วยเลี้ยม บ้านแคะนุ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง และส่วนหนึ่งจัดให้อยู่ บ้านปางแดง บ้านแม่จร บ้านห้วยโป่ง อำเภอเชียงดาว บ้านห้วยหวาย บ้านห้วยทรายขาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านสันต้นปุย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในส่วนของเรือนที่อยู่อาศัย ชาวดาราอั้งนิยมสร้างเรือนด้วยเสาไม้ ฟากและฝาเป็นไม้ไผ่สับ เป็นเรือนยกพื้นสูง ขึ้นอยู่กับความลาดชันบนไหล่เขา และหลังคามุงด้วยหญ้าคา ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรมปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์ ชาวดาราอั้งมีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษาดาราอั้ง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาปะหล่อง – วะ แต่โดยทั่วไปแล้วชาวดาราอั้งสามารถพูดภาษาไทยใหญ่ได้ เนื่องจากถิ่นฐานเดิมอยู่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มไทใหญ่ ชาวดาราอั้งมีชีวิตที่ค่อนข้างสงบและเรียบง่าย ด้วยเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษ สตรีชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนกระบอก ผ่าหน้า เอวลอย สีสันสดใส ส่วนมากนิยมสีดำ น้ำเงิน เขียว และม่วง ในส่วนของสาบเสื้อเย็บด้วยผ้าสีแดง ตกแต่งด้วยเลื่อมและลูกปัดหลากสี นุ่งซิ่นลายขวางสีแดงสลับลายริ้วขาวเส้นเล็ก ๆ ผืนยาวกรอมเท้า เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การสวมเอวด้วยวงหวาย บางคนก็ใช้โลหะสีเงินหรือทองตัดเป็นแถบยาวตอกลาย แล้วขดเป็นวง สวมใส่ปนกัน เรียกว่า “หน่องว่อง” สำหรับบุรุษชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงสะดอหรือกางเกงเซี่ยมสีน้ำเงิน เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การแกะฟันและฝังด้วยทองคำหรืออัญมณี ถือดาบ สะพายย่าม สูบกล้องยาสูบ ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 13,897 ครั้ง
ไทใหญ่
ไทใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่รัฐฉาน สหภาพพม่า เรียกตัวเองว่า “คนไต” แต่ชาวล้านนาทั่วไปมักเรียกว่า “เงี้ยว” โดยมีเมืองหลวงที่ถือเป็นศูนย์กลาง คือ เมืองตองจีหรือตองกี นอกจากนั้นยังมีชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งที่อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ยังมีกลุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น เมืองมาว เมืองวัน เมืองหล้า เมืองขอน เป็นต้น และบางส่วนของรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะที่ตำบลซ้างปานี แขวงเมืองสิพพสาครและอรุณาจลประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาทั้งสิ้น ชาวไทใหญ่นินมสร้างเรือนใต้ถุนเตี้ย หลังคาจั่วเดียว หากเป็นครัวครอบใหญ่นิยมสร้างเป็นหลังคาสองจั่ว และมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการค้าขาย ไทใหญ่มีภาษา การดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม โดดเด่นแตกต่างออกไปจากชาวไทลื้อ และชาวไทยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับภูตผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีวิธีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเทวดาและผีเสื้อบ้านเสื้อเมือง และยึดถือในการทำบุญแต่ละประเพณีเป็นอย่างมาก ดังประโยคที่กล่าวไว้ว่า “กินอย่างม่าน ตานอย่างไต” ที่หมายถึงชาวไทใหญ่จะนิยมการทำบุญทำทานมาก สตรีชาวไทใหญ่นิยมสวมเสื้อแซค เป็นเสื้อเนื้อบางแขนยาวหรือสามส่วน ป้ายสาบเสื้อทับไปทางขวาโดยใช้กระดุมผ้าหรือกระดุมโลหะสอดยึดห่วง นุ่งซิ่นเนื้อบาง เช่น ซิ่นก้อง ซิ่นส่วยต้อง ซิ่นปะล่อง ซิ้นหล้าย ซิ่นฮายย่า ซิ่นถุงจ้าบ และซิ่นปาเต๊ะ ทรงผมเกล้ามวยตามอายุ เช่น หากเป็นเด็กมักปล่อยหน้าม้า เมื่อเจริญวัยจึงเกล้ามวยผมไว้กลางกระหม่อมที่เรียกว่า “สะต๊อก” พอแต่งงานและเริ่มสูงวัยขึ้นจึงทำผมทรงเกล้าป้าด เกล้าขัดแก้ง และเกล้า จ็อกตามอายุ ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อเเซคหรือเสื้อแต้กปุ่ง เป็นเสื้อแขนยาว คอกลม กระดุมผ่าหน้า มีกระเป๋าเสื้อ นุ่งกางเกงสะดอเรียกว่า “ก๋นไต หรือ โก๋นโห่งโย่ง” มัดเอวและเคียนหัวด้วยผ้าสีอ่อน เช่น สีขาว ชมพู หรือเหลือง ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 12,426 ครั้ง
ไทเขิน
ไทเขิน ไทเขิน หรือ ไทขึน เป็นชนชาติหนึ่งที่เรียกตนเองตามพื้นที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำ “ขึน หรือ ขืน” ถือเป็นรัฐที่อยู่ในหุบเขา โดยมีเมืองเชียงตุงเป็นศูนย์กลาง ในเขตการปกครองของรัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ ไทเขินที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง เป็นกลุ่มไทที่มีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากกลุ่มไทใหญ่ในรัฐฉาน ทั้งนี้แม้จะอยู่ในเขตรัฐฉานแต่ไทเขินก็มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่น ไทยวน และไทลื้อ เป็นต้น ซึ่งทำให้รากฐานทางภาษา สังคม ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะความเชื่อความศรัทธาในเรื่องผีผสมผสานกับพระพระพุทธศาสนา ภาษาเขียนของชาวไทเขินได้รับมาจากอักษรธรรมล้านนา ที่ชาวไทยวนล้านนาเข้าไปเผยแพร่พร้อมกับรากฐานทางพุทธศาสนา ส่วนภาษาพูดมีความใกล้เคียงกับภาษาไทลื้อ และไทยอง ด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่โดยทั่วไปชาวไทเขินมักทำการเกษตร ปลูกข้าว พืชผัก เลี้ยงสัตว์อย่างพอเพียงในครอบครัว และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในสังคมแบบเครือญาติ ในอดีตชาวไทเขินบางส่วนถูกกวาดต้อนลงมายังอำเภอเมือง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวไทเขินกลุ่มนี้มีความสามารถในการทำงานหัตถกรรมประเภทเครื่องเงิน เครื่องเขิน ส่วนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่หลงเหลือคือ การสร้างเรือนไทเขิน เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคาเรือนทรงจั่วปีกหลังคายื่นยาวเหมือนเรือนไทลื้อในสิบสองปันนา เมื่อย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ผสมผสานเรือนแบบหลังคาสองจั่วตามแบบเรือนไทยวนมาด้วย ทั้งนี้ชาวไทเขินที่อยู่ในอำเภอสันป่าตองยังมีภาษาพูดแบบไทเขินที่ใช้สืบต่อกันมา การแต่งกายของสตรีชาวไทเขินนิยมสวมเสื้อปั๊ดผ้าแพรสีอ่อน เช่น สีชมพู สีขาว สีเหลือง สีครีม นุ่งซิ่นต๋าลื้อหรือต๋าโยนต่อตีนเขียว หากเป็นสตรีชนชั้นสูงจะนุ่งซิ่นไหมคำตีนบัวปักโลหะในโอกาสพิเศษ เกล้ามวยผมไว้กลางกระหม่อมและเคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อแขนยาว คอกลมหรือคอตั้ง กระดุมผ่าหน้า สวมกางเกงสะดอ และเคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 12,445 ครั้ง