ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ

เกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่แสดงถึงโลกทัศน์ทางสังคม อันมีวิธีคิดและจารีตปฏิบัติในสังคมล้านนา

พบทั้งหมด 359 รายการ
 
 
ปั๋นปอนปี๋ใหม่
ปั๋นปอนปี๋ใหม่
พรปีใหม่ คำอวยพรที่นำมาแสดงนี้เป็นแบบอย่างคำให้พรที่ผู้อาวุโสมักใช้กล่าวแก่ลูกหลานที่ไปดำหัว คือไปแสดงความคารวะในเทศกาลปาเวณีปีใหม่เมืองหรือในเทศกาลสงกรานต์ คำให้พรในช่วงนี้มักจะเป็นคำอวยพรที่ยอมรับกันว่าผ่านการเรียบเรียงแล้วว่ามีความครบถ้วน งดงามและไม่เยิ่นเย้อ   คำให้พรปีใหม่ล้านนา (ปั๋นปอนปี๋ใหม่) โดยศาสตราจารย์ อุดม รุ่งเรืองศรี  เอวํ โหนฺตุ  อัชชะในวันนี้ค็เปนวันดี          อดิกนฺโต  สังกรานต์ปีเก่าค็ข้ามล่วงป้นไพแล้ว ปีใหม่แก้วพญาวันค็มาจุจอดรอดเถิง  ลูกหลานทังหลายค็บ่ละเสียงยังรีต ปีลีดเสียยังคลองปาเวณีแห่งอริยะเจ้าทังหลาย  อันเปนมาแล้วในกาละเมื่อก่อน ท่านทังหลายค็บ่หื้อผ่อนหายสูญ  บัดนี้จิ่งตกแต่งน้อมนำมายังสุคันโธทกะ และสิ่งทานังทังหลายมวลฝูงนี้  มาสะสางสะเกล้าดำหัวยังตนตัวแห่งผู้ข้า บัดนี้ผู้ข้ามีธัมมเมตตาอว่ายหน้าปฏิคหะรับเอาแล้ว แม่นลูกหลายทังหลายได้กะทำ ด้วยกายวจีมโนกัมม์หลากหลาย  ได้กะทำกับผู้ข้าเปนอันมาก แม่นได้ปากล้ำคำเหลือเปนสัจจัง  ได้ปากเสียงดังได้ครางเสียงใหย่ ได้ขึ้นที่ต่ำย่ำที่สูงใดดั่งอั้นค็ดี  แม่นจักเปนวจีกัมม์โนกัมม์ไพถูกต้อง ลูกหลานทังหลายค็เตรียมพร้อมถ้าจะมาขอสะมา  ผู้ข้าค็บ่หื้อเปนโทสาสังสักอย่าง กายวจีมโนกัมม์ใดหื้อได้คลาดจากตนตัว  บ่หื้อมีความหมองมัวสังสักอย่าง หื้อแจ้งกระจ่างล้ำเลิส  แลหื้อป้นเสียงยังปาปโทษ โปรดหื้อหายกลายเปนอโหสิกัมม์  ขออย่าได้เปนนิวรณธัมม์
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 26,691 ครั้ง
ความหมายของวันพญาวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ความหมายของวันพญาวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์
วันพญาวัน “วัน” ในความหมายของการนับนั้น หมายถึงเวลาตั้งแต่รุ่งเช้าของวันหนึ่งไปถึงรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง “พญา” หมายถึง ความเป็นใหญ่ คำว่า “พญาวัน” ได้แก่วันที่เป็นใหญ่แก่วันทั้งหลาย หมายเอา “วันเถลิงศก” เริ่มต้นจุลศักราชใหม่ ชาวล้านนาใช้จุลศักราชมาแต่เดิม จึงยึดถึอว่าวันพระญาวัน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีที่ปฏิบัติในวันดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารพร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปทำบุญที่วัด ที่เรียกกันว่า “ตานขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ “ผีตายเก่าเน่าเมิน” คือวิญญาณของญาติผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นจะนำสำรับอาหารอีกส่วนหนึ่งในลักษณะเดียวกันไปมอบแก่บิดามารดา ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยความเคารพนับถือเสมือนถวายทานแด่พระสงฆ์ การกระทำเช่นนี้เรียกกันว่า “ตานขันข้าวคนเถ้า" ตอนสาย จะมีการนำ “ตุง” ซึ่งเตรียมไว้แล้วไปปักเจดีย์ทรายที่วัด โดยเชื่อว่าจะมีอานิสงส์สามารถช่วยดวงวิญญาณที่ตกนรกให้พ้นจากขุมนรกได้ โดยที่ผู้ตายจะได้อาศัยเกาะชายตุงขึ้นจากนรกภูมิเพื่อไปเกิดในสุคติภพ ในด้านผลบุญแห่งการถวายตุง ปรากฏในคัมภีร์ชื่อ “ธัมม์อานิสงส์สร้างตุง” ว่ามีอานิสงส์มากมาย อาทิ การไปเกิดในภพภูมิที่ดี มียศศักดิ์ ข้าวของสมบัติและข้าทาสบริวาร นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากตุงที่ถวายปลิวสะบัดไปทิศทางใด ก็จะได้อานิสงส์แตกต่างกันไป กล่าวคือ ถ้าตุงปลิวไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ จะได้เกิดเป็นเศรษฐีมีบริวารมากมาย ได้สมบัติเสมอแก้วเจ็ดประการ ได้นางแก้ว หม้อแก้ว ก้อนเส้าแก้ว (ที่รองรับภาชนะสำหรับหุงต้ม) ไหข้าวแก้ว (ไหบรรจุข้าวเหนียวสำหรับเวลานึ่ง) ปราสาทแก้ว เวียงแก้วและบุตรแก้ว หากตุงปลิวไปทิศใต้จะได้เกิดเป็นผู้มีอำนาจวาสนามีจตุรงคเสนาเป็นบริวาร ปลิวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเกิดเป็นพราหมณ์ผู้ประเสริฐ ปลิวไปทิศตะวันตกจะได้เกิดเป็นกษัตริย์อันเป็นที่รักของคนทั้งปวง ปลิวไปทิศเหนือจะได้เกิดเป็นผู้นำที่ประเสริฐพรั่งพร้อมด้วยเสนาอามาตย์ข้าทาสบริวาร และหากปลิวไปทิศอิสานคือตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีผลานิสงส์มหาศาล ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภพภูมิภายหน้า นอกจากการถวายตุงแล้ว บางแห่งอาจมีการถวาย “ไม้ค้ำสะหรี” คือไม้ง่ามสำหรับค้ำต้นโพธิ์ โดยถือคติว่าเป็นการถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนนานสืบไปชั่วอนันตกาล อีกทั้งเชื่อว่าจะมีผลด้านการค้ำหนุนให้ชีวิตประสบแต่ความรุ่งโรจน์ตลอดอายุขัย ช่วงบ่ายของวันนี้ จะเป็นการนำน้ำส้มป่อยเจือด้วยน้ำอบน้ำหอมไป “อาบองค์สรงสักการะ” พระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ ตลอดจนสถูปอัฐิบรรพชนและขยายผลทางกิจกรรมไปสู่การ “สักการะสระเกล้าดำหัว” ผู้มีพระคุณ ผู้ทรงไว้ซึ่งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิที่ตนเคารพนับถือ ทั้งนี้อาจไปด้วยตนเอง หรือไปพร้อมกับครอบครัวหรือหมู่คณะ ตามสภาวะอันควร อนึ่งในด้านความเชื่อ ชาวล้านนาเชื่อว่า “วันพญาวัน” เป็นเจ้าแห่งวัน ได้ยึดถือว่าเป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี ดังนั้น จึงนิยมประกอบพิธีกรรมอันเป็นมงคลต่าง ๆ เช่น แรกเริ่มร่ำเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ สักยันต์ ขึ้นบ้านใหม่ บรรพชาอุปสมบท ยกเสามงคล เป็นต้น และที่เหมือนกันโดยทั่วไปคือร่วมกันทำบุญในวันที่ดีที่สุดนี้ วันพญาวัน ในยุคสมัยก่อนไม่มีความคลาดเคลื่อน เพราะเชื่อตามการคำนวณแบบโบราณบนฐานหลักปฏิทินที่ยึดตามคัมภีร์สุริยยาตร์ ภายหลังทางราชการกำหนดเอาวันที่ ๑๓ ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ คนทั่วไปจึงเข้าใจกันว่า วันพญาวัน คือวันที่ ๑๕ เมษายนเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้ตรงกับวันที่ ๑๕ เสมอไป สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 37,558 ครั้ง
ผ้าพระบฏ
ผ้าพระบฏ
พระบฏ คือผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า "บฏ" มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า การเขียนผ้าพระบฏ  เพื่อประดับอาคารศาสนสถานเป็นคตินิยมในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ เช่นจีนและญี่ปุ่น ดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 (สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี หรือพระโพธิสัตว์ แวดล้อมด้วยพระสาวก ในประเทศไทยพบหลักฐานการทำผ้าพระบฏบนจารึกสุโขทัย หลักที่ 106 (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวถึงในปีพุทธศักราช 1827  พนมไสดำ ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ และภาพพระบฏ  ดังตอนหนึ่งว่า  “....พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ 14 ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา กระทำพระหินอันหนึ่ง ให้บุญไปแก่มหาเทวี....”   ภาพและเรื่องราวของผ้าพระบฏ         ในคติดั้งเดิม  ผ้าพระบฏมีส่วนประกอบสำคัญคือพระพุทธเจ้ายืนยกพระหัตถ์ขวา ต่อมามีพระอัครสาวกประกอบซ้ายขวา  ช่วงบนที่มุมซ้ายและขวามักมีฤๅษีหรือนักสิทธิ์ เหาะพนมมือถือดอกบัว ในระยะต่อมา แม้ว่าจะมีภาพเล่าเรื่องเข้ามาประกอบ  แต่ส่วนสำคัญของภาพก็ยังคงเป็นภาพที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา  ภาพและเรื่องราวที่เขียนในพระบฏ คือ ภาพพระพุทธเจ้ายืนยกพระหัตถ์ขวา หรือบางครั้งมีพระอัครสาวกยืนประนมมือขนาบข้างซ้าย - ขวา หมายถึง พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ส่วนใหญ่แล้วมักเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนภายในกรอบซุ้มประตู         ภาพพระพุทธประวัติ  นิยมเขียนในตอนมารผจญ ตอนเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัลป์  คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และพระกัสสปะ พระสมณโคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย พระมาลัย เป็นวรรณกรรมในพุทธศาสนาที่กล่าวถึง  พระอรหันต์นามว่าพระมาลัย  เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์สามารถเหาะลงไปโปรดสัตว์นรก และขึ้นไปนมัสการพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยภาพเขียนพระมาลัยจะเป็นพระสงฆ์ห่มจีวรสีแดง ถือตาลปัตร สะพายบาตร อยู่ในท่าเหาะ หรือไม่เช่นนั้นก็จะนั่งอยู่ต่อหน้าพระเจดีย์จุฬามณี พระเจดีย์จุฬามณี เป็นพระเจดีย์แก้วสีเขียวที่พระอินทร์ทรงสร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศา (เส้นผม) พระเวฏฐนพัสตร์ (ผ้าโพกศีรษะ) พระทักษิณทันตทาฒธาตุ (เขี้ยวซี่บนซ้าย - ขวา) และพระรากขวัญเบื้องบน (กระดูกไหปลาร้าบน) ของพระพุทธเจ้า  ทศชาติชาดก คือเรื่องราวของพระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีอันเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ 10 พระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะเสวยพระชาติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า เวสสันดรชาดก เป็นเรื่องที่นิยมเขียนกันมาก เพราะเป็นพระชาติที่บำเพ็ญบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะเสวยพระชาติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า จึงเรียกว่า มหาชาติ อสุภะ คือภาพพระสงฆ์พิจารณาซากศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน สำหรับเป็นมรณานุสติให้แก่พระภิกษุสงฆ์และบุคคลทั้งหลาย         ภาพอื่นๆ  นอกจากนี้ยังมีพระบฏที่เขียนเป็นภาพพระพุทธบาทสี่รอย มีลายมงคล ๑๐๘ ประการ ภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงเป็นแถว หรือภาพเล่าเรื่องในวรรณกรรม เช่น พระสุธน - มโนห์รา เป็นต้น   รูปแบบของพระบฏ แบบผืนผ้าขนาดยาว  ใช้สำหรับแขวนทอดลงมา  มักเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืน หรือภาพพระพุทธเจ้ายืนภายในซุ้ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย – ขวา  หรือเขียนภาพเล่าเรื่องในพระพุทธประวัติ พระมาลัย หรือทศชาติ หรือภาพเล่าเรื่องอื่นๆ แบบผืนผ้าขนาดยาวในแนวขวาง ประมาณ 15-20  เมตร  ใช้แขวนภายในอุโบสถหรือวิหาร  นิยมเขียนภาพเล่าเรื่องเต็มทั้งผืน ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดกและทศชาติ แบบผืนผ้าขนาดเล็กลง ประมาณ 50 x 70 เซนติเมตร หรือ 50 x 50 เซนติเมตร เขียนภาพเล่าเรื่องเป็นตอนๆ ในพระพุทธประวัติ ชาดก และที่นิยมกันมาก คือเวสสันดรชาดก   ความหมายของ “ภาพตุงค่าว” และ “ผ้าพระเวส” คือผ้าพระบฏรูปแบบหนึ่งที่เขียนเล่าเรื่องในเวสสันดรชาดก มีจำนวน 13 - 28 ผืน ตามเนื้อเรื่องในแต่ละกัณฑ์ของเวสสันดรชาดก ที่มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ คือ ทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศ ชูชก    จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์สุดท้าย ใช้แขวนภายในวิหารหรือศาลาการเปรียญในพิธีเทศน์มหาชาติ ในภาคเหนือเรียกว่า “ภาพตุงค่าว” เพราะเป็นภาพประกอบการเทศนาธรรมในพิธีตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) ส่วนภาคอีสาน  เรียกว่า “ผ้าพระเวส” ใช้ประกอบการเทศน์มหาชาติในงาน “บุญเผวส”  เช่นเดียวกัน   ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 9,565 ครั้ง
ประเพณีเดือน ๗ ต้อนรับปีใหม่ล้านนา
ประเพณีเดือน ๗ ต้อนรับปีใหม่ล้านนา
           เดือน ๗ ของล้านนาเป็นเดือนแห่งการล่วงเลยของปีเก่าและการมาเยือนของปีใหม่ ในสมัยโบราณนั้นล้านนาประเทศ ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ของประเพณีสงกรานต์  จึงถือเป็นงานประเพณีเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การกำหนดวันสงกรานต์ในสมัยปัจจุบันถือกำหนดวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกๆ ปี แต่เดิมนั้นต้องคำนวณตามหลักโหราศาสตร์ก่อน ซึ่งอาจไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนก็เป็นได้ อย่างเช่นปีนี้ วันสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน สำหรับกิจกรรมในช่วงเทศกาล (๑๔ – ๑๖) วันแรกเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ล้านนาเรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” วันนี้จะมีการปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาดหมดจดทุกหนแห่งแล้วอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดผ่องใส มีการปล่อยสัตว์ นก ปลา เต่า หอย เป็นต้น นับว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์  นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระล้างด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ในส่วนของชุมชนก็มีการนำพระพุทธรูปออกแห่ให้ประชาชนได้มีโอกาสสรงน้ำร่วมกันด้วย วันที่สองเป็น “วันเน่า” วันนี้ถือเป็นวันหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่มีกิจกรรมสำคัญคือ จัดเตรียมสิ่งของไว้ทำบุญในวันรุ่งขึ้นเรียกว่า “วันดา” ของที่จัดเตรียมนอกจากเป็นเครื่องไทยทานและยังมีตุงสำหรับปักเจดีย์ทรายรวมไปถึงไม้ค้ำสรี คือ ไม้ง่ามสำหรับค้ำต้นโพธิ์และสิ่งของสำหรับเป็นเครื่องสักการะผู้ใหญ่ในวันต่อไป วันที่สามเป็น “วันเถลิงศก” เป็นวันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนศักราชใหม่ ล้านนาเรียกว่า “วันพระญาวัน” ตอนเช้ามีการทำบุญที่วัดเพื่อเป็น  สิริมงคลและอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ล่วงลับ จากนั้นจะจัดเตรียมสำรับอาหารไปมอบพร้อมรับพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ ตอนสายจะเอาตุงไปปักที่เจดีย์ทรายที่วัด เอาน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสรงน้ำพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ บางแห่งมีการถวายไม้ค้ำโพธิ์ด้วย ช่วงบ่ายมีการนำสิ่งของไปมอบให้ผู้อาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา ครูอาจารย์ เป็นการขอขมาในรอบปีเรียกว่า “การดำหัว” ตลอดระยะเวลาในช่วงสงกรานต์จะมีการรดน้ำกันอย่างสนุกสนานจึงถือเป็นงานรื่นเริงที่ประชาชนมีความสุข           ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม บรรยากาศมีแต่การให้อภัย ทุกคนมอบสิ่งที่ดีงามผ่านสายน้ำที่รินหลั่ง ฟังคำพรที่อ่อนเอื้อพักเพื้อด้วยสายธารแห่งไมตรี จึงถือเป็นประเพณีที่สามารถจรรโลงสังคมให้ร่มเย็นสงบสุขทุกยุคและกาลสมัย   สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 1,311 ครั้ง
ถวายหลัวหิงไฟเดือนสี่   ตานข้าวจี่ข้าวหลาม
ถวายหลัวหิงไฟเดือนสี่   ตานข้าวจี่ข้าวหลาม
ในช่วงปลายเหมันตฤดู เดือนสี่เหนือ(เดือนยี่ของไทย) ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ชาวล้านนามีประเพณีสำคัญประจำเดือน ในวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ ของเดือน นั่นคือประเพณี “ทานข้าวใหม่ - ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า”           หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว ชาวนาต่างนึกถึงคุณของ “ผีปู่ผีย่า ผีฟ้าผีน้ำ ผีค้ำดินดำ” อันได้แก่ ผีบรรพบุรุษผู้บุกเบิกเนื้อไร่แดนนา ผีบนฟ้าที่ประทานสายฝน มีขุนน้ำประจำชลธารไหล ได้หล่อเลี้ยงข้าวกล้าเติบโตงาม ผีดินผู้ค้ำหนุนมีคุณด้วยประทานเนื้อดินอันอุดม ให้สมบูรณ์พูนผลจนสำเร็จเป็นเมล็ดข้าว จึงได้พากันจัดแบ่งข้าวเปลือกข้าวสารใส่กระทง พร้อมข้าวสุก อาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ หมากพลูบุหรี่ ใส่กระบะบัตรพลี แล้วประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชา           ต่อมาชาวล้านนาได้รับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาหลัก การบูชาคุณจึงนิยมทำบุญอุทิศตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของพืชผลธัญญาจึงถูกจัดไว้ไหว้สาบูชาพระรัตนตรัยด้วย ภายหลังพลังศรัทธาพระศาสนาเข้มข้นขึ้นจึงจัดถวายพระรัตนตรัยเป็นหลักใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็มิได้ทิ้งคติเดิม กล่าวคือยังมีการทำบุญผ่านการ “ทานขันข้าว” คือสำรับอาหารอันมีข้าวใหม่เป็นหลัก อุทิศให้เจ้าแดนแผ่นนา เทวดา พระนางธรณี เจ้าที่เจ้าแดนเจ้าแห่งเจ้าหน ตลอดจนญาติมิตรผู้ล่วงลับถ้วนหน้า กล่าวถึงเฉพาะการทำบุญใหญ่ เรียกทั่วไปว่า “ทานข้าวใหม่” แต่ก็มีหลายท้องที่เรียกชื่อต่างกันไปได้แก่ ทานข้าวหล่อบาตร ทานข้าวล้นบาตร และทานดอยข้าว ซึ่งแต่ละชื่อเกิดจากอาการ ที่เห็น คือเริ่มต้นทางวัดจะจัดภาชนะรองรับส่วนใหญ่เป็นบาตร ชาวบ้านที่นำเมล็ดข้าวไปทำบุญจะ “หล่อ”คือเทเมล็ดข้าวลงในบาตร  เมื่อเห็นอาการเช่นนี้จนชินตาจึงเรียก “ทานข้าวหล่อบาตร” เมื่อข้าวเต็มบาตรก็เทข้าวออกกองไว้แล้วหงายบาตรขึ้นรับใหม่จนข้าวเต็มและล้นออกจึงเรียก “ทานข้าวล้นบาตร” สุดท้ายหลายบาตรเข้า กองเมล็ดข้าวก็ใหญ่โตเหมือนภูเขา จึงเรียกว่า “ทานดอยข้าว” ซึ่งกองที่เป็นข้าวสารมองเห็นเป็นสีขาว เรียก “ดอยเงิน” ส่วนกองข้าวเปลือกเห็นเป็นสีเหลืองเรียก “ดอยคำ”           ลักษณะการทำบุญ นอกจากจะทำบุญด้วยผลิตผลซึ่งเป็นเมล็ดข้าวล้วน ๆ แล้ว ยังมีการแปรสภาพข้าวถวาย เช่น นำข้าวไปนึ่งสุกแล้วปั้นปิ้งไฟเป็นข้าวจี่ หรือใส่กระบอกไม้เผาไฟให้สุกเป็นข้าวหลามไปถวายพระ จึงมีคำเรียกติดปากอีกชื่อว่า “ทานข้าวจี่ข้าวหลาม” ส่วนการ “ทานขันข้าว” จะนึ่งข้าวใหม่ถวายพร้อมอาหารปรุงรสพิเศษและพืชผลตามฤดูกาลอาทิ ถั่ว งา หัวมัน เป็นต้น           อนึ่ง ในวันเดียวกัน มีประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่ง เรียกว่าประเพณี “ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า” จะมีการจัดเตรียม “หลัว” คือฟืนสำหรับเผาถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีจุดมุ่งหมายให้ “พระเจ้า” หมายถึง พระพุทธเจ้าได้ “หิง” คือผิงให้เกิดไออุ่น ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากความรู้สึกของคนที่คิดว่าในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็น พระพุทธเจ้าก็คงจะหนาวเช่นกัน จึงเกิดกิจกรรมนี้ขึ้น สำหรับฟืนที่ใช้มักเป็นไม้ที่มีเนื้อสีขาว เช่น ไม้คนทาหรือชิงชี่ ไม้ตะคร้อ ไม้มะขาม เป็นต้น ฟืนที่หาได้จะถูกตัดให้ยาวประมาณ  ๑  วาของเจ้าภาพแล้วมัดรวมกันให้ได้  ๘๐  ท่อน เท่าจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้าคือ  ๘๐ พรรษา นอกจากนี้ อาจมีท่อนไม้ไผ่สดใส่เข้าในกองไฟ เพื่อให้เกิดระเบิดเสียงดังตูมตาม และพิธีกรรมนี้จะมีขึ้นในเช้ามือของวันนั้น           ประเพณีทานข้าวใหม่ก็ดี ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าก็ดี เป็นประเพณีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตในสังคมเกษตร ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในอดีต ปัจจุบันแม้สังคมจะเปลี่ยนไป แต่ประเพณีดังกล่าวก็ยังคงหลงเหลืออยู่ เพราะหากมองดูแก่นแท้แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นประเพณีที่ส่งเสริมคุณธรรมชั้นสูงอันได้แก่ “กตัญญูกตเวทิตาธรรม” น้อมนำจิตใจให้อ่อนโยน เคารพและเทิดทูนคุณค่าของบุพพการีชน จึงถือเป็นสิ่งจรรโลงศีลธรรม อันจะนำผลให้คนในสังคมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข   สนั่น ธรรมธิ  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 2,911 ครั้ง
ไปวัด
ไปวัด
ชาวล้านนาในฐานะที่เป็นชาวพุทธ มีวัดในชุมชนเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นสถานที่ชำระกิเลส หรือสิ่งสกปรกที่รกเรื้ออยู่ในใจด้วยน้ำที่ใสสะอาดอันได้แก่ “น้ำพระธรรมคำสอน” ดังนั้นการไปวัดในโอกาสต่างๆ เช่นวันธรรมสวนะจึงถือว่าเป็นไปเพื่อ “อาบน้ำฟังธรรม” ซึ่งคนโบราณล้านนามักสั่งสอนกันว่า “น้ำวังลึกหื้อเอาขัดสี น้ำใสดีหื้อเอาซ่วยหน้า” การชำระจิตใจนอกจากการใช้พระธรรมตลอดจนประกอบกิจกรรมอื่นๆ แล้ว ยังมีการทำบุญให้ทาน รักษาศีลและบำเพ็ญภาวนาเพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต และเนื่องจากวัดเป็นสาธารณสถานจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ถือเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในเชิงพิธีกรรม ซึ่งบางอย่างหลายท้องที่อาจมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างกันไป ในที่นี้จะกล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไป ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติอาจแบ่งได้เป็น  ๒  อย่าง อย่างหนึ่งเป็นการกระทำโดยตนเอง อีกอย่างหนึ่งจะกระทำร่วมกันโดยรวม   กระทำด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่จัดเตรียมสักการะ เช่น ธูป  เทียน  ข้าวตอก  ดอกไม้ พร้อมของที่จะนำไปทำบุญ อาทิ อาหารคาวหวาน ขนมและผลไม้ เป็นต้น เมื่อไปถึงประตูวัด บางแห่งจะมีการทักทายเทวดาที่รักษาวัดว่า “อิมัสสมิง อาราเม เทวตา  วะสันตา สุขิตา โหตุ” จากนั้นจึงถอดรองเท้าแล้วถือเดินไปยังวิหาร วางรองเท้าไว้ในที่ซึ่งจัดไว้เป็นการเฉพาะหรือข้างบันไดขั้นต่ำสุด แล้วขึ้นสู่วิหารไป “นบพระไหว้ธรรม ด้วยที่ติดที่เท้าห้าแห่ง” คือกราบพระประธานที่แท่นบูชาในลักษณะเบญจางคประดิษฐ์ จากนั้นจึงนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาพระประธาน และ ใส่ขันแก้วทั้งสาม ขันขอศีล และขันนำทาน ซึ่งแต่ละอย่างมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังจะได้อธิบายโดยลำดับ ต่อไปนี้   การบูชาพระประธาน หลังจากกราบพระประธานแล้ว จะเป็นการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน โดยจุดเทียนจำนวน ๓ เล่มและรวบข้าวตอกดอกไม้และธูปไว้ในมือที่อยู่ในลักษณะประณมไหว้ พร้อมกล่าวคำบูชาว่า “อัคคิพะหูบุปผัง ชิเน ทัตวา อภิรูโป มหาปัญโญ ทาเรนโต ปิฎะกัตตะยัง นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” แล้วนำเครื่องสักการะไปวางที่แท่นบูชา นำเทียนไปติดในที่ที่จัดไว้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การบูชาพระของชาวล้านนาในสมัยโบราณไม่นิยมจุดธูป แต่ปัจจุบันมีการจุดธูปเพราะรับอิทธิพลมาจากไทยภาคอื่น   ใส่ขันแก้วทั้งสาม           แก้วทั้งสาม ถ้าออกเสียงภาษาล้านนาจะเป็น “แก้วตังสาม” หมายถึง พระรัตนตรัย ส่วน “ขัน” หมายถึง พานขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจะเป็นทรงสามเหลี่ยม จัดไว้สำหรับใส่ธูปเทียนดอกไม้บูชาพระพุทธพระธรรมและพระสงฆ์ ทุกคนที่ไปวัดหลังจากกราบและบูชาพระประธานแล้ว จะต้องใส่ขันแก้วทั้งสามก่อนและโดยธรรมเนียมปฏิบัติ คนแรกที่ใส่จะต้องเป็นผู้ชาย ซึ่งจะแบ่งธูปเทียนดอกไม้ เป็น  ๓  ชุด โดยใช้เทียน ๓ เล่ม ธูป ๒ ดอก ใส่ชุดละ  ๑  มุม ก่อนใส่จะต้องกล่าวคำอธิษฐานชุดที่หนึ่ง  ว่า “พุทโธ อะระหัง”  ชุดที่สองว่า “ธัมโม  ปัจจัตตัง”  และชุดที่สามว่า “สังโฆ ยะทิทัง”   ใส่ขันขอศีล           ขันขอศีล คือ พานใส่ธูปเทียนดอกไม้ สำหรับประเคนพระสงฆ์ เพื่อขอรับศีล หลังจากใส่ขันแก้วทั้งสามแล้ว จะเป็นการใส่ธูปเทียนดอกไม้ในขันขอศีล ซึ่งจะใช้เทียน ๕ เล่ม ธูป ๕ ดอกเป็นลำดับต่อมา   ใส่ขันนำทาน           ขันนำทาน คือ พานใส่ธูปเทียนดอกไม้สำหรับประเคนถวายแทนเครื่องไทยทานที่มีจำนวนมาก หรือไทยทานที่เป็นของมีน้ำหนักมากไม่สามารถยกประเคนได้ เมื่อเสร็จจากการใส่ขันขอศีล ทุกคนจะนำธูปเทียนดอกไม้โดยใส่เทียน ๓ เล่ม ธูป ๓ ดอกไม้ส่วนหนึ่งมาใส่ขันนำทาน           เครื่องสักการะประเภทดอกไม้ธูปเทียน นอกจากจะนำไปบูชาพระประธาน ใส่ขันแก้วทั้งสาม ใส่ขันศีลและขันนำทานแล้ว บางคนอาจนำไปบูชาสิ่งอื่นๆ อีก เช่น บูชาต้นศรีมหาโพธิ์ บูชาพระธาตุเจดีย์ อนุสาวรีย์รูปเคารพ หออารักษ์ (ผีเสื้อวัด) เป็นต้น           หลังจากเสร็จภาระเรื่องของธูปเทียนดอกไม้และการบูชาแล้ว กิจที่จะต้องทำด้วยตนเองอีกอย่างหนึ่ง คือ ฮอมน้ำหยาด และใส่บาตรฮอมบุญ   ฮอมน้ำหยาด           น้ำหยาด คือ น้ำสำหรับกรวดอุทิศส่วนกุศลที่เตรียมมาจากบ้าน ฮอม คือการนำไป รวมกัน ไว้ในคนโทที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งเรียกว่า “น้ำต้นน้ำหยาด” สำหรับเป็นภาชนะรองรับน้ำหยาดที่ทุกคนจะนำมาเทรวมกัน เพื่อกรวดพร้อมกันอีกครั้งเมื่อถึงช่วงเวลา   ใส่บาตรฮอมบุญ อาหาร ขนม หรือผลไม้ที่จัดเตรียมมาจากบ้าน ทางวัดจะจัดถ้วยชามไว้สำหรับใส่อาหาร พร้อมตั้งบาตรเรียงรายไว้สำหรับใส่ข้าว ทุกคนจะได้ใส่บาตรทำบุญร่วมกันเป็นการ “ฮอมบุญ” ในโอกาสเดียวกัน   การกระทำร่วมกันโดยรวม           การไปวัดในช่วงต้นมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่กราบพระประธาน กระทั่งถึงใส่บาตรดังที่ได้กล่าวมา หากมีเวลาไม่มากอาจกลับบ้านก่อน แต่ถ้ามีเวลาอยู่ต่อก็จะมีกิจกรรมร่วมกับส่วนรวม ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยการไหว้พระ รับศีล กล่าวคำถวายทานและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลหลังจากพระสงฆ์อนุโมทนาจบลง           ชีวิตของชาวล้านนาเป็นชีวิตที่เรียบง่ายไม่เร่งรีบ การไปวัดส่วนใหญ่จะอยู่จนถึงพระสงฆ์อนุโมทนา แต่ปัจจุบันผู้คนมีชีวิตที่เร่งรีบ มักไปได้แค่ช่วงต้นเท่านั้น ไม่ทันได้รับพรจากพระสงฆ์ ก็ต้องลงจากวิหารเพื่อปฏิบัติงานอื่นต่อไป   สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2563 • การดู 10,378 ครั้ง
ความหมายของต้นเขืองหรือต้นเต่าร้าง
ความหมายของต้นเขืองหรือต้นเต่าร้าง
“ต้นเขือง” (ต้นเต่าร้าง) เต่าร้าง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Caryota urens) เป็นพืชในวงศ์ Palmae เป็นปาล์มต้นเดี่ยว ขนาดใหญ่ ไม่มีหนาม ปล้องบนลำต้นยาว แผ่นใบเป็นร่องรูปตัว V ใบประกอบแบบขนนก ๒ ชั้น ก้านใบยาวขนาดใหญ่ ออกดอกแล้วตาย ดอกช่อแยกเพศ ผลสุกสีแดง พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย ตอนใต้ของจีน ไทยและเวียดนาม เนื้อไม้ ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง และทำเครื่องมือทางการเกษตร เป็นไม้ประดับ ช่อดอกปาดเอาน้ำหวานมาผลิตน้ำตาลได้ ใบใช้มุงหลังคา ทำเชือก ยอดอ่อนต้มรับประทานได้ ทางภาคใต้นำยอดนำมาต้มกะทิกับกุ้ง ขนที่ผลเมื่อถูกผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดงและคัน ด้านความเชื่อแบบล้านนาจะนำตุงกระดาษมามัดกับก้านเขือง ปักบนเจดีย์ทรายในวันเข้าวัดทำบุญในวันมหาสงกรานต์ ตามประเพณีความเชื่อแบบล้านนา ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ด้านอาหาร รสชาติของยอดเต่าร้างจะคล้ายกับยอดมะพร้าว สามารถนํามาต้มจิ้มน้ําพริก หรือแกงได้ชาวบ้านนิยมนํามาใช้แทนยอดมะพร้าว ข้อควรระวัง เปลือกผลทำให้ระคายเคือง ลําต้นของต้นเต่าร้างจะมีขนและพิษคัน ถ้าโดนมือจะทําให้คันมาก บางคนมีอาการแพ้ชาวบ้านจะเอาส่วนที่มีขนออกให้หมดก่อนจึงจะนํามารับประทานได้ สรรพคุณ หัวและราก มีรสหวานเย็นขม ดับพิษที่ตับ ปอด และหัวใจพิการได้ดี   อ้างอิงจาก : https://www.m-culture.go.th/uthaithani/ewt_news.php?nid=232    
เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2563 • การดู 22,298 ครั้ง
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
สงกรานต์ล้านนาปี๋ใหม่
วันปี๋ใหม่เมืองล้านนา   วันสังขานต์ล่อง หมายถึง วันที่ปีเก่าจะผ่านพ้นไป หากจะกล่าวในแง่ของดาราศาสตร์ คือวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไป คำว่า“ล่อง”ในภาษาล้านนา หมายถึง ล่วงไป หรือ ผ่านไปนั่นเอง วันสังขานต์ล่องของชาวล้านนา เป็นวันที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กๆ จะตื่นเต้นเพื่อรอต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ วันสังขานต์ล่องจึงเป็นวันที่ทุกคนจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อรอดูปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ที่เล่ากันว่าจะหอบข้าวของพะรุงพะรังมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ หรือบางทีก็ล่องเรือไปตามลำน้ำ   กิจกรรมสำคัญ ที่ชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันในวันสังขานต์ล่องนี้คือ การปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะหยากไย่ใยแมงมุมและฝุ่นตามซอกมุมบ้าน ตลอดจนทำการซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม และนำเครื่องนอนออกมาตาก ตบฝุ่นให้สะอาดไม่เหม็นอับ เพราะปีหนึ่งจะมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่สักครั้งหนึ่ง การซักผ้าเครื่องนอนจำนวนมากเช่นนี้ บางทีจะหาบใส่ตะกร้าไปซักตามแม่น้ำใหญ่ ถือเป็นการชำระสิ่งสกปรก เสนียดจัญไรให้ไหลล่องไปตามลำน้ำตลอดจนชำระกายใจให้สะอาดและนุ่งผ้าใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลเตรียมต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ชาวล้านนามีความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน คือ“การดำหัว”หรือสระผมของตนเองด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถือเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาดและเป็นมงคลเพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้ออกจากชีวิต    ในวันเน่าสำหรับวิถีปฏิบัติของคนล้านนา ถือเป็น“วันดา”คือวันที่เตรียมการสำหรับการไปทำบุญใหญ่ที่วัดในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นวันพญาวัน ดังนั้น กิจกรรมหลักที่นิยมถือปฏิบัติกันในช่วงเช้าของวันนี้ คือการจัดเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญ เช่น การเตรียมอาหารหม้อใหญ่ เนื่องจากต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรดาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา ตามสายตระกูลของตน และยังทำบุญเพื่อหวังกุศลผลบุญให้กับตัวเองในภายภาคหน้าอีกด้วย อาหารที่คนล้านนานิยมจัดเตรียมไว้ทำบุญมักเป็นอาหารที่ค่อนข้างพิเศษกว่าอาหารปกติทั่วไป อาทิ แกงฮังเล ต้มจืดวุ้นเส้น ต้มส้มไก่(ต้มข่าไก่)ห่อนึ่ง(ห่อหมก)แกงเผ็ดต่างๆ ตามแบบภาคกลาง(ยุคปัจจุบัน) โดยบางบ้านอาจเตรียมอาหารหลากหลายชนิดตามฐานะและศรัทธาของตนเอง วันเน่า  ถือเป็นวันสุกดิบ ตามความเชื่อแต่โบราณ คือ งดเว้นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ อาทิ การด่าทอ ทะเลาะวิวาท ส่วนในช่วงเย็น เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการจัดเตรียมของทำบุญแล้ว สมาชิกในครอบครัวทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และหนุ่มสาวจะพากันถือภาชนะไปตักทรายที่ท่าน้ำใกล้บ้านเพื่อขนไปรวมกันที่วัด ซึ่งทางวัดมักทำที่สำหรับเททรายลง โดยทำเสวียน(สังเวียน)สานด้วยไม้ไผ่ เพื่อเป็นเจดีย์ทรายสำหรับให้ผู้คนขนทรายใส่ คนส่วนใหญ่จะนิยมขนกันคนละ ๓ เที่ยว ตามคติที่ยึดถือในพระรัตนตรัย และจะอธิษฐานขอกุศลผลบุญจากการขนทรายเข้าวัดเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งในช่วงวันขึ้นปีใหม่ วันพญาวัน วันพญาวัน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา ถือเป็นวันมงคล ช่วงเช้าของวันพญาวัน ควรเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับบุญกุศล วิญญาณ ความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ไปทำบุญที่วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ พร้อมอุทิศถึงเทวดา เจ้ากรรมนายเวร แล้วสรงน้ำพระเจดีย์พระพุทธรูป และปักตุงที่ค่อนข้างละเอียดลึกซึ้ง โดยแบ่งเป็นตุงประเภทต่างๆ ซึ่งความหมายส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบุญกุศลและเรื่องของวิญญาณทั้งสิ้น  วันปากปี  วันปากปี เป็นวันถัดจากวันพญาวัน ถือเป็นวันเริ่มต้นชีวิตที่ดีหลายพื้นที่จะประกอบพิธีสืบชาตาหมู่บ้าน ผู้คนไปร่วมงานกันพร้อมหน้า ตกเย็นจะมีการประกอบอาหารอันมีขนุนเป็นหลัก เช่น แกงขนุน ตำขนุน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าจะเกิดการหนุนส่งให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม บ้างก็ทำอาหารประเภทลาบเอาเคล็ดทางโชคลาภเป็นประเดิม บ้างเสริมบารมี ด้วยการจุดเทียนมงคลบูชาพระ ซึ่งมักประกอบด้วยเทียนยันต์สืบชาตา หลีกเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์และรับโชค เป็นต้น    - สงกรานต์ล้านนาปี๋นี้ ฮ่วมกั๋นสืบสานป๋าเวณี อยู่ตี้บ้านกั๋นเน้อเจ้า -  
เผยแพร่เมื่อ 12 เมษายน 2563 • การดู 6,210 ครั้ง