ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อฯ

เกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา ที่แสดงถึงโลกทัศน์ทางสังคม อันมีวิธีคิดและจารีตปฏิบัติในสังคมล้านนา

พบทั้งหมด 359 รายการ
 
 
วัดลี ในบริเวณเวียงพยาว เวียงโบราณรูปน้ำเต้า
วัดลี ในบริเวณเวียงพยาว เวียงโบราณรูปน้ำเต้า
         พะเยาเป็นจังหวัดเดียวที่ยังมีเวียงโบราณที่เป็นคันดินและคูน้ำล้อมรอบเหลือให้เห็นร่องรอยจำนวนมากเฉพาะในเขตอำเภอเมืองได้แก่เวียงภูกามยาว  เวียงพยาวเวียงรูปน้ำเต้า  เวียงปู่ล่าม  เวียงหนองหวี  เวียงพระธาตุจอมทอง  เวียงต๋อม 2 วง  เวียงห้วยหม้อ ฯลฯ แม้ต่อมามีการสร้างถนน สร้างอาคาร และบ้านพักบนพื้นที่คันดินและคูน้ำไปบางส่วนก็ยังเหลือร่อยรอยส่วนใหญ่รอการอนุรักษ์และพัฒนา           วัดลีตั้งอยู่ในเวียงพยาวเวียงรูปน้ำเต้า ขนาดเวียงกว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 1,500 เมตร ส่วนหัวขั้วน้ำเต้ากว้างประมาณ 500 เมตร   เดิมมีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ   แม่น้ำอิงไหลผ่านเวียงจากทิศใต้ไปทิศตะวันออก  มีร่อยรอยวัดร้างหลายวัด ปัจจุบันฟื้นแล้ว 2 วัด คือวัดลีและวัดศรีจอมเรือง  ส่วนอีกวัดคือวัดสุวรรณมหาวิหาร กลายเป็นสำนักชีดรุณีวิเวกาศรม           จารึกวัดลี  ระบุว่าสร้างโดยเจ้าสี่หมื่น ผู้เป็นราชครูของพระเจ้ายอดเชียงรายกษัตริย์แห่งล้านนา(พ.ศ.2031-2038) เมื่อ พ.ศ.2038 กาลเวลาผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2465 ครูบาแก้ว คันธวังโส มาพบว่าพระธาตุเจดีย์พังเหลือเพียงครึ่งองค์ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นองค์พระธาตุรูปประมาณ 3 ชั้น ต่อด้วยฐานบัวคว่ำ 2 ชั้น ส่วนกลางพระธาตุสูงประมาณ 2 เมตรต่อด้วยบัวหงายเล็ก 2 ชั้น บัวหงายใหญ่ 2 ชั้นส่วนบนเป็นกองอิฐพังทลาย มีต้นไม้ขึ้น มีพระพุทธรูปหินทราย 2 องค์อยู่ทางด้านเหนือและด้านตะวันออก    รอบเจดีย์เป็นป่ารกด้วยหญ้าคา องค์พระธาตุเจดีย์มีร่องรอยถูกเจาะและขุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ทั้งสี่ด้าน           ครูบาแก้ว คันธวังโส เป็นพระลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย เดิมจำพรรษาที่วัดพระเจ้าตนหลวง คณะศรัทธาได้นิมนต์มาอยู่ที่วัดลีตั้งแต่ พ.ศ.2465 ครูบาแก้วได้รื้อถอนวิหารออก และนิมนต์ครูบาศรีวิชัยซึ่งมา “นั่งหนัก”บูรณะวัดพระเจ้าตนหลวงช่วง พ.ศ.2465-2467 มาเป็นประธานในการบูรณะองค์พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่และฟื้นวัดตั้งแต่นั้นมา           พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่  มีความสูง 37 เมตร ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสด้านละ 17 เมตร ต่อด้วยฐานรูปแปดเหลี่ยม 3 ชั้น ไม่มีย่อมุม ต่อด้วยฐานบัวคว่ำ 2 ชั้น ย่อมุม 28 สี่ด้านต่อด้วยส่วนเอว มีขอบเล็ก 1 ชั้น และฐานบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นส่วนที่เรียกว่า คอบาตรรูปทรงแปดเหลี่ยมไม่มีย่อมุม ต่อด้วยส่วนที่เรียกว่า พุ่มรูประฆังคว่ำ มาลัยเถารูปทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมลดหลั่นขึ้นไป 8 ชั้น ชั้นบนสุดรูประฆังคว่ำสูง 3 เมตร ต่อด้วยส่วนที่เรียกว่าบัลลังก์แก้ว มีลักษณะคล้ายพานรูปแปดเหลี่ยม ถัดไปเป็นปล้องไฉนทรงกรวย  ยอดปลี ยอดระฆัง และฉัตร ต่อมาบูรณะอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2543 ลดจำนวนชั้นมาลัยเถาเหลือเพียง 5 ชั้น           สมัยครูบาแก้ว คันธวังโส มาฟื้นวัดลีได้พบพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ 2 องค์ ตั้งอยู่ทิศเหนือและทิศตะวันออก  ต่อมาสมัยครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฒิ เป็นช่วงฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์องค์เล็กครอบพระพุทธรูปหินทรายองค์ที่อยู่ด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันจึงเหลือพระพุทธรูปหินทรายด้านทิศเหนือของพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ เป็นพระพุทธรูปสูงประมาณ 2.30 เมตร หน้าตักกว้าง 1.90 เมตร พระพักตรอิ่มเอิบ ลายผ้าจีวรพาดบริเวณหน้าตักซ้าย พระเศียรเป็นลายตาราง เป็นศิลปพะเยาที่เก่าแก่(คำบรรยายในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลี)   รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ โครงการจัดทำแผนและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า พะเยา  
เผยแพร่เมื่อ 22 เมษายน 2563 • การดู 1,483 ครั้ง